ผู้ป่วยโรคหืดเอเชียแปซิฟิก รวมตัว “สู้เพื่อคุมโรคหืด” ครั้งแรก แพทย์-พยาบาลไทย บินร่วมระดมสมองช่วยชีวิตผู้ป่วยนับล้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 30, 2007 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์
กลุ่มผู้ป่วยโรคหืดในอาเซียนรวมตัวก่อตั้ง “องค์กรความร่วมมือผู้ป่วยโรคหืดในอาเซียน หรือThe Asian Asthma Patient Coalition” (AAPC) ขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชีย ท่ามกลางความรุนแรงของโรคหืดที่ขยายตัวมากขึ้นในเอเชีย แพทย์เผยปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหืด 300 ล้านคนทั่วโลกและเสียชีวิตถึง 255,000 รายทุกปี ขณะที่พบว่าผู้ป่วยโรคหืดในเอเชียมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก !
ทั้งนี้ องค์กรความร่วมมือผู้ป่วยโรคหืดในอาเซียน หรือThe Asian Asthma Patient Coalition (AAPC) ได้ประกาศเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ (เสาร์ที่ 27 ม.ค. 2550) โดยมีผู้ป่วยโรคหืดที่เป็นบุคคลทั่วไป และผู้มีชื่อเสียงทั่วอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยได้มีแพทย์และพยาบาลซึ่งเป็นตัวแทนจากชมรมผู้ป่วยโรคหืดเข้าร่วม โดยตั้งเป้ารณรงค์ให้ความรู้และช่วยให้ผู้ป่วยโรคหืดประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคหืดของตัวเอง เพื่อไม่ต้องทนทุกข์ทรมานหรือเสียชีวิตอีกต่อไป
หนึ่งในการดำเนินงานสำคัญของ AAPC คือ การสนับสนุนการใช้ “แบบประเมินการควบคุมโรคหืด — Asthma Control Test (ACT)” ซึ่งเป็นแบบสอบถามเพื่อให้ผู้ป่วยหืดใช้ประเมินการควบคุมอาการโรคหืดของตนเอง เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้แพทย์นำไปประกอบการเลือกวิธีการรักษาโรคหืดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนต่อไป
นางคริสทีน วอร์โลว์ สมาชิกของ AAPC และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ National Asthma Council ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “AAPC มีเป้าหมายการทำงานเพื่อให้ความรู้ และช่วยให้ผู้ป่วยโรคหืดและครอบครัวประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคหืดได้แบบยั่งยืน รวมทั้งลดความรุนแรงของโรคหืดที่กำลังขยายตัวขึ้นมากในเอเชีย โดยเราต้องการสนับสนุนผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ให้นำวิธีการที่ได้รับการยอมรับ อาทิ Asthma Control Test ไปใช้ในการวินิจฉัยโรค การบำบัดรักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคหืด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคหืด” ภูมิภาคเอเชีย มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหืดสูงที่สุดในโลก ขณะที่มีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลกในปัจจุบันและคาดว่าความรุนแรงของโรคหืดจะทวีเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยจะมีผู้ป่วยโรคหืดเพิ่มจำนวนขึ้นอีกถึง 100 — 150 ล้านคนภายในปี 2568 นี้
ผศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้แทนฝ่ายแพทย์จากประเทศไทยที่เดินทางเข้าร่วมงาน กล่าวว่า “ ปัจจุบันนี้ความสามารถในการควบคุมโรคหืดในประเทศไทยยังถือว่าห่างไกลจากเป้าหมายที่ควรจะเป็นอยู่มาก ซึ่งการให้ความเชื่อมั่น กับผู้ป่วยโรคหืดว่าโรคหืดนั้นสามารถควบคุมได้ คุณสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องทุกข์ทรมานหรือกังวลกับอาการหืดกำเริบได้ หากรู้วิธีการในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาตัวเอง ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความรุนแรงของโรคหืดได้มากขึ้น”
น.ส.อุไรวรรณ แซ่อุย พยาบาลหน่วยระบบทางเดินหายใจ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ผู้แทนจากไทยในฐานะสมาชิกของ AAPC กล่าวว่า “ในประเทศอื่น ๆ กลุ่มผู้ป่วยโรคหืดมีความกระตือรือร้นอยากหายจากโรคนี้อย่างแท้จริง พวกเขาตื่นตัวรวมกลุ่มเป็นชมรมเพื่อแสวงหาความรู้ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งประเทศเราเองก็หวังว่าผู้ป่วยโรคหืดจะให้ความสนใจความรู้ใหม่ ๆ ในการดูแลตนเองกันมากขึ้น และรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยเหลือกันเอง ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐทุกส่วนในประเทศไทยก็พร้อมและยินดีให้ความช่วยเหลือท่านโดยเฉพาะชมรมโรคหืดซึ่งมีอยู่ในทุกภูมิภาคผู้ป่วยสามารถติดต่อขอรับทราบข่าวสาร หรือคำแนะนำ รวมทั้งความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา โดยชมรมผู้ป่วยโรคหืดนี้จะมีการจัดกิจกรรมในวันหืดโลกขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี และยังสามารถติดตามข่าวสารหรือความรู้ใหม่ ๆ จากเวปไซด์ www.asthma.or.th อีกด้วย”
นางแสงนวล พิศาลธนพันธุ์ หัวหน้าพยาบาลประจำหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจเวชบำบัดวิกฤติและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะสมาชิกของ AAPC เปิดเผยว่า “ทุกวันนี้ผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทยจำนวนมากที่ไม่เข้าใจโรค ประเมินความรุนแรงของโรคต่ำกว่าความเป็นจริง และคิดว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือบางส่วนเข้าใจผิดคิดว่าตนเองสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงยังไม่ใช่ เป็นเพียงแค่การควบคุมแบบชั่วคราวเท่านั้น แต่เป้าหมายของเราคือทำให้ผู้ป่วยควบคุมโรคหืดได้แบบสมบูรณ์ ทำกิจกรรมทุกอย่างได้เหมือนปกติตามที่ต้องการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าวของ องค์กรความร่วมมือผู้ป่วยโรคหืดในอาเซียน หรือThe Asian Asthma Patient Coalition (AAPC) ได้มีศิลปิน นักแสดง และนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงจากหลายประเทศเข้าร่วมงาน พร้อมกับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตในการเป็นโรคหืดในงาน อาทิ แจ็คเกอลีน ลี ศิลปินสาวชาวไต้หวัน เปิดเผยว่า ช่วงชีวิตวัยเด็กและเมื่อเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ เธอต้องทุกข์ทรมานกับอาการโรคหืดจนส่งผลกระทบต่อชีวิตในการเข้าสังคมอย่างมาก แต่ทุกวันนี้เธอแทบไม่รู้สึกตัวเลยว่าเป็นผู้ป่วยโรคหืด สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและออกกำลังกายได้ตามที่ต้องการ... “ฉันรู้สึกภูมิใจที่จะเป็นตัวแทนบอกเล่าแนวคิดการควบคุมโรคหืดให้ผู้ป่วยอื่น ๆ ได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระเหมือนกับฉันในวันนี้ค่ะ” แจ็คเกอลีน กล่าว
AAPC ยังได้เปิดตัวเวปไซด์ www.asianasthma.org ที่ให้ข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคหืดชาวเอเชีย เพื่อผลักดันให้เกิดการควบคุมอาการโรคหืดอย่างมีประสิทธิภาพ Global Initiative for Asthma (GINA) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหืดนานาชาติ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการควบคุมอาการของโรคหืดไว้อย่างชัดเจน ในแนวทางการรักษาฉบับใหม่ล่าสุด (GINA Guideline) ที่เพิ่งเปิดตัวไป โดยแนะนำให้ใช้ “แบบประเมินการควบคุมโรคหืด” ที่เชื่อถือได้ และ ACT ซึ่งเป็นชุดคำถาม 5 ข้อเพื่อใช้ในการประเมินอาการหอบ และเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับแพทย์สามารถเลือกวิธีการบำบัดรักษาต่อเนื่องให้กับผู้ป่วยโรคหืด เป็นอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม หลอดลมตีบ หายใจลำบาก และหากควบคุมไม่ดีจะทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และบางครั้งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผลกระทบต่อสุขภาพเกิดขึ้นควบคู่ไปกับปัญหาการเข้าถึงระบบการสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายต่อปีของผู้ป่วยโรคหืดแต่ละรายในภูมิภาคนี้มีตั้งแต่ 184 เหรียญสหรัฐในเวียดนาม ไปจนถึง 1,189 เหรียญสหรัฐในฮ่องกง ซึ่งทั่วโลกแล้ว ค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโรคหืด คิดเป็นมูลค่ามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายการรักษาของวัณโรคและเอดส์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ภรณ์ธณัฐ สถิรกุล
ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์
บริษัท กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์ จำกัด โทร. 02-953-9624-5 ต่อ 801
อีเมล์ gmmonday@gmail.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ