เฟ้นหานักแอนิเมชั่นมือโปร ดันไทยสู่ฮับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday October 26, 2010 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--เวเบอร์ แซนวิค ผลงานจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่ก้าวล้ำของมนุษย์ทำให้ปัจจุบันดิจิทัลคอนเทนท์ (Digital Content) มีความน่าตื่นตาตื่นใจและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในแทบทุกวงการ โดยเฉพาะในธุรกิจบันเทิง โฆษณา การศึกษา และสื่อสาร โดยได้พัฒนามาเป็นลำดับ ตั้งแต่แบบ 2 มิติ (2D) สามมิติ (3D) จนล่าสุดเป็นสี่มิติ (4D) ซึ่งให้ความเสมือนจริงเกือบครบทุกสัมผัส ทั้งรูป กลิ่น เสียง และสัมผัส อย่างที่บางคนมีโอกาสได้ไปชมที่ศาลาไทย (Thai Pavilion) ในงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2010 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งทั้งหมดนี้คนไทยมีขีดความสามารถที่จะทำได้และทำได้ดีเยี่ยมจนได้รับรางวัลจากเวทีการแข่งขันระดับโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน โดยในช่วง 2-3 มีที่ผ่านมา เรามักได้ยินว่าหนังแอนิเมชั่นของฮอลลิวูดหลายเรื่องหรือผลงานโฆษณาชิ้นเยี่ยมระดับโลกมีทีมนักแอนิเมชั่นไทยอยู่ “เบื้องหลัง” การที่นักแอนิเมชั่นไทยเป็นที่สนใจของบริษัทผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนท์จากทั่วโลกมากขึ้นจนถึงขั้น “เนื้อหอม” ทำให้ไทยต้องเร่งสร้างบุคลากรในสาขานี้ให้มีความความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาด สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอร์ฟแวร์แห่งชาติ (องค์?การมหาชน) หรือ ซิป้า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอร์ฟแวร์ในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จึงได้จัดโครงการ SIPA Animation Contest 2010 ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันการประกวดงานออกแบบด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจด้านนี้ได้แสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพอย่างมืออาชีพ รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า “SIPA Animation Contest 2010 เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้รับความสนใจจากกลุ่มนักเรียน นิสิต/นักศึกษา บุคคลทั่วไป รวมไปถึงมืออาชีพที่ทำงานด้านการออกแบบกราฟิกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนเกี่ยวกับแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียทั่วประเทศมากถึง 24 สถาบัน ในการประชาสัมพันธ์โครงการและสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การแข่งขันเป็นแบบ Pitching กล่าวคือ ผู้ที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงานแต่ไม่มีทุนสนับสนุน สามารถนำโครงการของตนมาเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนได้ โดยผลงานที่นำมาส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นผลงานที่ยังไม่เคยผลิตหรือเคยได้รับทุนสนับสนุนจากที่ใดมาก่อน” ประเภทการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท Animation for Intellectual Property ที่กระตุ้นให้ผู้ที่ได้ชมผลงานเกิดจิตสำนึกทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา และประเภท Character Design ซึ่งเน้นการออกแบบตัวละครที่มีทั้งความสวยงามและแนวคิดที่น่าสนใจ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ (Merchandise) หรือสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นได้ โดยในปีนี้มีเจ้าของผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมเสริมศักยภาพกับทางโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อการเขียนแผนธุรกิจ การพัฒนาทักษะและความรู้ความสามารถด้านแอนิเมชั่น รวมถึงการนำเสนองาน จำนวนทั้งสิ้น 35 คน จาก 213 ผลงาน จากการตัดสินของคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และผู้ประกอบการด้านแอนิเมชั่น โดยพิจารณาจากศักยภาพของผลงาน ทีมงานและแผนการดำเนินงาน รวมทั้งความเป็นไปได้?ในเชิงธุรกิจ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Animation for Intellectual Property คือ Animation Series: Lo & Loo โดย นายศศพิชญ์ รุจิรัตน์ ซึ่งมีที่มาจากการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาเนื้อหาเพื่อถ่ายทอดเคล็ดลับหลากหลายวิธีในการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน (บทเรียนจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ) โดยผ่านตัวการ์ตูนสีสันสดใส ทุกคนสามารถสนุกสนานไปกับแอนิเมชั่น พร้อมกับการเรียนรู้เรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างโอกาส ผู้ชมสามารถนำแนวคิดจากตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือพัฒนาไปสู่ธุรกิจวิชาชีพต่างๆ ได้ ทั้งยังคงเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ และเยาวชนได้รู้จักมูลค่าและพลังของความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ผลงานดังกล่าวได้?รับเงินรางวัลถึง 500,000 บาท ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Character Design คือ “The Magic Bug” โดยทีม Six Guardian ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากแมลง โดยการนำโครงสร้างที่โดดเด่นของแมลงเหล่านั้น เช่น แมลงวัน แมลงปอ ผึ้ง เต่าทอง และด้วง มาผสมผสานกับโครงสร้างของมนุษย์ จนออกมาเป็นตัวการ์ตูนที่มีความน่ารัก สดใส และมีชีวิตชีวา โลดแล่นไปในดินแดนแห่งเวทย์มนต์ที่เหนือจิตนาการ ได้รับเงินรางวัลถึง 100,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ คือ “The Bugie Bug” โดยทีม Bluebanana Studio ได้แรงบันดาลใจมาจากแมลงชนิดต่างๆ ของไทยที่มีลักษณะโดดเด่น เช่น แมลงทับ หิ่งห้อย แมลงกลิ้งขี้ เป็นต้น โดยสอดแทรกแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และรางวัลที่ 3 คือ “นาคสินธุ์” โดยนายปิฎก หมู่หมื่นศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนและคำว่า “save the world” กระตุ้นให้คนบนโลกช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยตัวละครตัวนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฮีโร่หรือตัวแทนที่จะมาช่วยปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้โลกกลับคืนสู่สภาพที่น่าอยู่ดังเดิม นายอรรถกร อินทกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอมพิวเตอร์ กราฟฟิก พลัส จำกัด หนึ่งในผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ กล่าวว่า “จุดประสงค์หลักในการเข้ามาร่วมสนับสนุนกิจกรรมของโครงการ ก็คือ เพื่อผลักดันให้นักแอนิเมชั่นไทยนำผลงานไปพัฒนาต่อยอดร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันนำผลงานของตนไปใช้ได้จริง ส่วนด้านความสามารถของผู้เข้าแข่งขัน เห็นว่าในปีนี้มีการพัฒนาขึ้นอีกขั้น ซึ่งเป็นผลจากความตื่นตัวของวงการแอนิเมชั่นในประเทศไทย โดยในช่วง 1-2 ปีมานี้มีเวทีการประกวดเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีสถาบันการศึกษาเปิดสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น อย่างน้อยในปัจจุบันก็มีแล้วถึง 24 แห่งทั่วประเทศ น่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมแอนิเมชั่นโดยรวม” นายอรรถกรให้ความเห็นที่น่าสนใจอีกว่า “สำหรับทิศทางในอนาคต อยากให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่อยากให้เป็นเพียงกระแสที่เกิดจากความนิยมหนังสามมิติในขณะนี้ ทั้งนี้ควรเน้นพัฒนาคนของเราให้มาก เพราะตลาดแรงงานด้านแอนิเมชั่นทั่วโลกกำลังต้องการ” SIPA Animation Contest 2010 เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ดีเด่นแห่งชาติ 2553 (TESCA 2010) ซึ่งผลที่คาดว่าจะได?รับหลักๆ ก็คือ การที่นักแอนิเมชั่นไทยสามารถพัฒนาแอนิเมชั่นที่มีความน่าสนใจและมีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติ ทั้งนี้ คาดว่าการจัดการแข่งในแต่ละปี?จะมีผลงานที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นเป็นลำดับในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในประเทศหรือสร้างศักยภาพในการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ คนไทยมีภาคภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ให้คนไทยด้วยกันได้ชื่นชม เกี่ยวกับ TESCA 2010 โครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ดีเด่นแห่งชาติ 2553 หรือ เทสก้า 2010 (TESCA 2010) ) เป็นหนึ่งในโครงการหลักของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ตื่นตัว และส่งเสริมศักยภาพของนักคิด นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ผ่านการแข่งขันใน 8 กิจกรรม ครอบคลุมทั้งด้านซอฟต์แวร์ ดิจิตัลคอนเทนท์ แอนิเมชั่น เกมส์ สมองกลฝังตัว เอนเตอร์ไพรส์ซอฟต์แวร์ และแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ พร้อมพัฒนาผลงานต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผลงานฝีมือคนไทย รายละเอียด 8 กิจกรรม ของโครงการ TESCA 2010 ประกอบด้วย 1. Thailand ICT Award and Asia Pacific ICT Alliance 2010 (TICTA/APICTA) 2. SIPA Animation Contest 2010 and DigiCon6 3. SIPA Game Contest and Award 2010 4. Thailand Embedded Product Award 2010 (TEPA) 5. National Software Contest 2010 (NSC) 6. ACM International Collegiate Programming Contest 2010 (ACM/ICPC) 7. Software Business Plan Contest 2010 8. Cut & Paste Bangkok Global Tournament 2010 สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TESCA 2010 ได้ที่เว็บไซต์ www.tesca2010.sipa.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ: สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน): โทร. 02 —141—7227 ตัวแทนที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์: คุณอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ โทร. 02-343-6059 คุณรุ่งนภา ชาญวิเศษ โทร. 02-343-6061

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ