ทอท. เร่งรัดหาสาเหตุของการชำรุดของทางวิ่ง ทางขับสนามบินสุวรรณภูมิ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 22, 2007 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ทอท.
ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการกรณีชำรุดของทางขับ ทางวิ่ง สนามบินสุวรรณภูมิ รับฟังความคืบหน้าการดำเนินงานของบริษัทที่ปรึกษาหาสาเหตุการชำรุดฯ และตรวจความคืบหน้าการปิดซ่อมหัวทางวิ่งของสนามบินสุวรรณภูมิ พบการดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และการปิดพื้นที่ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการขึ้น-ลงของเที่ยวบินแต่อย่างใด
รศ. ดร.ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการกรณีการชำรุดบริเวณทางขับ (Taxiway) และทางวิ่ง (Runway) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) พร้อมคณะที่ปรึกษาฯ ได้แก่ พลอากาศโทอิทธพร ศุภวงศ์ ดร.สุรฉัตร สัมพันธารักษ์ และนายสืบศักดิ์ พรหมบุญ ได้ประชุมร่วมกับ ทอท. และกลุ่มบริษัท IMMS/JAC/KJSO-JIBAN Consortium ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบสาเหตุของความชำรุด เสียหาย บริเวณทางขับ และทางวิ่งของ ทสภ. เพื่อรับฟังการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานของบริษัทที่ปรึกษาฯ
ภายหลังการประชุมนายสุรจิต สุรพลชัย ประธานคณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า ภายหลังจากที่บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้เข้าเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 50 ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้มีการจัดทำรายงานเบื้องต้น (Inception Report) ส่งให้กับ ทอท. แล้วตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการดำเนินการรวบรวมเอกสารที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น เอกสารรายละเอียดที่เกี่ยวกับการออกแบบ การควบคุมงานและการก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้เอกสารบางฉบับเป็นเอกสารย้อนหลังไปถึง 14 ปี ซึ่งเป็นเอกสารตั้งแต่มีการริเริ่มการออกแบบ โดยขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาสามารถรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ได้มากกว่า 90 % ซึ่งมีมากถึง 3,500,000 หน้าเลยทีเดียว
นอกจากนี้บริษัทที่ปรึกษาฯ ยังได้มีการสำรวจพื้นที่ (Site Investigation) เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการตรวจสอบหาสาเหตุ โดยได้มีการเข้าไปเจาะสำรวจพื้นที่ต่างๆ ของบริเวณทางขับ (Taxiway) และทางวิ่ง (Runway) แล้วประมาณ 60 จุดด้วยกัน อาทิ บริเวณพื้นที่ Taxi lane T 4, T 12 บริเวณ Taxiway B1 และพื้นที่บริเวณทางวิ่ง (Runway) 19 L นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานขุดเจาะพื้นผิวเพิ่มเติมอีก 40 จุดด้วย
นายสุรจิตยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของบริษัทที่ปรึกษามีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยคาดว่าบริษัทที่ปรึกษาจะสามารถดำเนินการจัดส่งเอกสารต่าง ๆ ให้กับ ทอท. ได้ทันตามกำหนด คือ เอกสาร Preliminary Investigation and Check Report ภายใน 75 วัน และเอกสาร Draft Final Investigation and Check Report ภายใน 150 วัน
นอกจากนี้ภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาฯ ยังได้เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการปิดซ่อมพื้นที่บริเวณ หัวทางวิ่ง (Runway) ฝั่งตะวันออก 19L-01R ด้านทิศเหนือ ความยาวประมาณ 500 ม. และพื้นที่บริเวณทางขับ B1-B2 เพื่อซ่อมแซมพื้นผิวที่ชำรุดด้วย ภายหลังการตรวจเยี่ยม รศ. ดร.ต่อตระกูล เปิดเผยว่า การดำเนินการซ่อมแซมพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทอท. ได้ให้กลุ่มบริษัท IOT Joint Venture เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากยังอยู่ในระยะเวลาประกัน ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และน่าจะซ่อมได้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายใน 50 วัน ทั้งนี้ตนเห็นว่าการปิดซ่อมพื้นที่บริเวณหัวทางวิ่งฝั่งตะวันออกด้านทิศเหนือและพื้นที่ทางขับบางส่วนในครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการขึ้นลงของเที่ยวบินแต่อย่างใด เนื่องจากทางวิ่งฝั่งตะวันออกมีความยาวถึง 4,000 ม. แม้จะปิดซ่อมไป 500 ม. และเผื่อระยะสำหรับความปลอดภัยไว้อีกประมาณ 500 ม. แต่ยังมีความยาวของทางวิ่งที่สามารถใช้งานได้อีกประมาณ 2,890 ม. จึงยังคงให้เครื่องบินสามารถใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออกบินขึ้นได้ตามปกติ แต่ถ้าหากเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ อาทิ เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 ที่ต้องบินระยะไกลและต้องบรรทุกน้ำหนักมาก เพื่อความปลอดภัย ทสภ. ได้จัดให้ขึ้น-ลงที่ทางวิ่งฝั่งตะวันตกแทน ซึ่งที่ผ่านมา ทสภ. ได้มีการแจ้งประสานงานให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า จึงทำให้แต่ละฝ่ายได้มีการเตรียมความพร้อมและให้การร่วมมือเป็นอย่างดี วามร่วมมือด้วยดีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)
อนึ่ง กลุ่มบริษัท IMMS/JAC/KISO-JIBAN Consortium ประกอบด้วย
- IMMS Co., Ltd.
- Japan Airport Consultant, Inc.
- KISO-JIBAN Consultant Co., Ltd.
โดยทอท. ได้มีการลงนามในสัญญาว่าจ้างกับกลุ่มบริษัทดังกล่าวในวงเงิน 61.407 ล้านบาท โดยมีกำหนดเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2550 - 16 มกราคม 2551 (ระยะเวลา 180 วัน) มีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์และตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงของการชำรุดบริเวณทางขับ ทางวิ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเสนอมาตรการแก้ไข
ประชาสัมพันธ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โทร.02-132-2053, 2058 โทรสาร 02-132-2055

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ