ปภ. แนะวิธีการป้องกันตัวจากแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Thursday May 17, 2007 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ปภ.
ปภ. แนะวิธีการป้องกันตัวจากแผ่นดินไหว เตรียมพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็น เรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น การใช้อุปกรณ์ดับเพลิง หากอยู่ในอาคารสูง หาจุดหลบที่ปลอดภัย ห่างจากประตูหน้าต่าง หรือมุดลงใต้โต๊ะ อย่าตื่นตระหนก หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ หากขับรถ ให้หาที่จอดที่ปลอดภัย พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.1 ริกเตอร์ บริเวณพรมแดนลาว-พม่า ส่งผลให้หลายจังหวัดทางภาคเหนือและบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานครได้รับแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนอันตรายจากภัยแผ่นดินไหวอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากภัยแผ่นดินไหว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือผู้ที่อยู่ในอาคารสูง ควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การปิดไฟและแก๊ส การใช้อุปกรณ์ดับเพลิง เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ยา อาหารแห้ง เครื่องดื่ม ไฟฉาย ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน วางแผนการอพยพหนีภัย และควรยึดของที่มีน้ำหนักมากให้แน่น หากต้องอยู่ในสถานการณ์ขณะเกิดเหตุ ควรหาจุดหลบที่ปลอดภัยที่มีโครงสร้างอาคารแข็งแรงห่างจากประตู หน้าต่าง เสาไฟฟ้า หรือบริเวณที่มีกระจก เพราะอาจแตกร้าวกระเด็นใส่ได้ และหากอยู่ในภาวะอันตรายให้มุดลงใต้โต๊ะรอให้การสั่นหยุดลง แล้วจึงรีบออกจากตัวอาคารทันที หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์อย่างเด็ดขาด อย่าตื่นตระหนก ติดตามรับฟังสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด หากขับรถอยู่ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ให้จอดรถใน ที่ปลอดภัยและอยู่ภายในรถจนกว่าการสั่นสะเทือนจะหยุดลง สำหรับผู้ที่อยู่บริเวณชายทะเล ให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่งได้
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว กรมป้องกันฯ ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพื้นที่ใดสถานการณ์รุนแรง ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ เครื่องจักรกล ไปสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติในระยะนี้ สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงควรติดตามข่าวแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากได้รับการแจ้งเตือน จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้หน่วยงานในสังกัดเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ