ก.ไอซีที แจงความคืบหน้าการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Thursday October 28, 2010 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ก.ไอซีที นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายหลังจากกระทรวงไอซีที ได้สั่งการให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือ War Room ขึ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานข้อมูลระหว่างผู้ขอรับความช่วยเหลือกับหน่วยงานผู้ให้ความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1111 ของศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC 1111) และการส่งข้อความ หรือ SMS ผ่านหมายเลข 4567891 รวมทั้งได้ประสานงานกับเว็บไซต์ของรัฐบาล www.pm.go.th และเว็บไซต์ของเอกชน www.thaiflood.com เพื่อใช้เป็นช่องทางในการติดต่อขอรับการช่วยเหลือ และสำรวจความต้องการของผู้เดือดร้อนนั้น ปรากฏว่าได้มีประชาชนส่งข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์บริหารข้อมูลฯ จำนวนมาก โดยระหว่างวันที่ 16 - 26 ตุลาคม 2553 มีผลการดำเนินงาน คือ 1.การตอบข้อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอุทกภัยผ่านสายด่วน 1111 จำนวน 4,136 ราย 2.การร้องทุกข์จากผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 1,557 ราย 3.การร้องทุกข์ผ่านระบบ SMS หมายเลข 4567891 จำนวน 543 รายสามารถดำเนินการสำเร็จ 259 ราย ไม่สามารถติดต่อได้จำนวน 244 ราย สำหรับการส่งข้อความผ่านระบบ SMS นั้น ได้มีผู้ส่งข้อความผ่านหมายเลข 4567891 เข้ามาเป็นจำนวนหลายพันข้อความ แต่เป็นข้อความร้องทุกข์จากผู้ประสบภัย หรือแจ้งเหตุภัยพิบัติที่สามารถนำไปดำเนินการส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประมาณ 400 - 500 ข้อความเท่านั้น เนื่องจากข้อความที่ส่งมามีบางส่วนขาดรายละเอียดสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของสถานที่ประสบภัย จึงทำให้ไม่สามารถส่งต่อข้อมูลความเดือดร้อนดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ขณะเดียวกันก็ได้มีการส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมในหลายรูปแบบเข้ามายังหมายเลขดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย เช่น การส่งข้อความไม่สุภาพ หยาบคายซ้ำๆ กันหลายครั้ง การส่งข้อความหลอกลวงว่ามีบางพื้นที่ประสบภัยแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วกลับพบว่าไม่ได้มีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องเร่งช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยโดยเร็ว และส่งผลให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนต้องได้รับความช่วยเหลือที่ล่าช้าออกไปเนื่องจากต้องเสียเวลาในการคัดกรอง ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล SMS ที่ส่งเข้ามาวันละเกือบ 1,000 ข้อความ ก่อนจ ะประสานงานส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ประสบภัย ดังนั้น กระทรวงไอซีที จึงขอแจ้งแก่ผู้ประสบภัยและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต้องการร้องทุกข์ ให้ส่งข้อความที่ระบุรายละเอียดชัดเจนโดยเฉพาะพิกัดสถานที่ เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถประสานงานส่งต่อข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ขอร้องผู้ที่ส่งข้อความไม่เหมาะสมต่างๆ ได้โปรดหยุดการกระทำดังกล่าว เนื่องจากการกระทำเหล่านั้นเท่ากับเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัยที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนให้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่ล่าช้าออกไป จึงอยากขอให้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบกับความทุกข์ยากลำบากอยู่ในขณะนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากการรับแจ้งข้อความตามช่องทางต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ศูนย์เตือนภัยฯ ยังได้สถาปนาเครือข่ายสื่อสารสำรองตามนโยบายการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากนักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ ชมรมและสมาคมวิทยุสมัครเล่นประจำจังหวัดต่างๆ นำระบบและเครือข่ายสื่อสารเข้าปฏิบัติงานคู่ขนานไปกับข่ายการสื่อสารของทางราชการ ทำให้ประชาชนผู้เดือดร้อนมีทางเลือกมากขึ้นในการติดต่อแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากนักวิทยุสมัครเล่นในจังหวัดนนทบุรี เสียสละเวลามาร่วมปฏิบัติงานเข้าเวรเฝ้าระวังและประสานงานติดต่อที่ศูนย์บริหารข้อมูลฯ ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย ด้านน.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การจัดการและการบริหารการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อใช้ในการประสานงาน การกำกับ การควบคุม และสั่งการ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจได้มาจากหลายรูปแบบ เช่น การสื่อสารทางเสียง — ทางภาพ — แผนที่ — ภาคตัวอักษร และตัวเลข ตลอดจนกราฟฟิคต่าง ๆ ดังนั้น ศูนย์เตือนภัยฯ จึงได้ติดต่อขอความร่วมมือจากบริษัทเจ้าของระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการความช่วยเหลือ เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวในเฮติ หรือ ระบบ Web EOC มาตั้งระบบที่ศูนย์เตือนภัยฯ เพื่อใช้เป็นข่ายการบริหารข้อมูลเสริมจากการดำเนินงานแบบดั้งเดิม นอกจากนั้น ศูนย์เตือนภัยฯ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพิ่มช่องทางในการรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อการช่วยเหลือ โดยขอให้บุคลากรของสำนักงานสถิติจังหวัด ในทุกพื้นที่ออกสำรวจความต้องการความช่วยเหลือของผู้ประสบภัยที่อาจตกหล่นจากการรับทราบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากเครือข่ายเพื่อนเตือนภัย หรือนักวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ให้ออกสำรวจความต้องการดังกล่าวด้วย การดำเนินงานดังกล่าวจึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติฯ เพื่อนเตือนภัย นักวิทยุสมัครเล่น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น รวมถึงจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ภารกิจสนับสนุนการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องจากภัยน้ำท่วมรุนแรงในครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถบริหารจัดการช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ