“ไพบูลย์” ชูภาษีทรัพย์สิน-มรดก ทัพหน้าปฏิรูปสังคมด้านคลังทำแผนแม่บทการเงินการคลังสร้างภูมิคุ้มกันสังคม

ข่าวทั่วไป Monday May 28, 2007 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
“ไพบูลย์” ชูภาษีทรัพย์สิน-มรดก-ส่งเสริมการให้และการพัฒนาสังคม-กองทุนประกันสังคม เป็นทัพหน้าปฏิรูปการเงินการคลังเพื่อสังคม ระบุมีผลทางจิตวิทยาสูง เพราะสัมพันธ์กับความเป็นธรรมในสังคม แนะมาตรการการเงินการคลังเพื่อสังคมควรทำเฉพาะยุทธศาสตร์สำคัญที่สร้างผลสะเทือนได้จริง อย่าหว่านทั้งหมด กระตุกการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง แต่ต้องเป็นสังคมที่ยั่งยืน
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่างแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า มาตรการการเงินการคลังเพื่อสังคมที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ผลลัพธ์หรือผลกระทบที่ตามมาจะสูงมาก เพราะครั้งนี้เป็นการมาบรรจบกันของนักการเงินการคลัง นักพัฒนาองค์กรเอกชน และประชาชนที่เป็นเจ้าของปัญหา
“ภายหลังภาวะเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 นักการเงินการคลังเริ่มเปลี่ยนกระบวนการคิดที่ไม่ได้มุ่งจะนำเงินเข้าคลังแต่เพียงอย่างเดียว การเงินการคลังเพื่อสังคมเป็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นการสร้างสังคมที่พึงปรารถนา สังคมที่ดีงามและทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข”
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง แต่ต้องเป็นไปเพื่อสังคมที่ยั่งยืน และยุทธศาสตร์การเงินการคลังเพื่อสังคมจะต้องสร้างผลสะเทือนต่อสังคมอย่างสำคัญ และนำไปสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
“มาตรการการเงินการคลังเพื่อสังคม จะต้องเลือกทำเพียง 2-3 มาตรการที่จะสร้างผลสะเทือนอย่างสำคัญกับสังคม โดยมาตรการแรกที่สามารถทำได้คือ ภาษีทรัพย์สิน ที่จะลดช่องว่างในสังคมได้มาก โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา เพราะประชาชนจะรู้สึกว่าช่องว่างที่เคยมีลดลง และที่สำคัญเรื่องนี้เชื่อมโยงกับความเป็นธรรมในสังคม ใครมีมาก ควรจ่ายมาก เพื่อกันไม่ให้คนสะสมมาก” นายไพบูลย์กล่าว นอกจากนั้น ควรเร่งออกมาตรการด้านภาษีมรดก ซึ่งมีผลทางจิตวิทยามากเช่นเดียวกัน เพราะสัมพันธ์กับการกระจายทรัพยากร ดังประเทศเยอรมนีที่มีการตั้งมูลนิธิที่มีเงินแต่ละปีมากกว่าของ สสส. โดยเจ้าของได้บริจาคหุ้นให้กับทางมูลนิธิที่ตัวเองตั้งขึ้นมา ถือเป็นการให้ทางยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ สสส.ทำในขณะนี้
อีกมาตรการคือ การผ่อนปรนภาษีขององค์กรสาธารณะประโยชน์และผู้บริจาคให้องค์กรสาธารณะประโยชน์ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาสูง เพราะถ้าทำได้จะถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้มีการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น อีกทั้งภาษีการให้และการอาสาเพื่อสังคมนี้ยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลนี้ด้วย รวมถึงการปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคม โดยทั้ง 4 มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการทางยุทธศาสตร์ที่จะเป็นทัพหน้าในการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปตามกระแสโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีโดยที่ความเจริญก้าวหน้า และการพัฒนาของประเทศไทย ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับสังคมไทยยังมีช่องว่างและความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในหลายมิติ
นอกจากนี้ สังคมไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำของรายได้ ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสมาชิกในสังคมจำนวนมากยังมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจน ขาดภูมิคุ้มกัน และขาดหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนชราที่ยากจน และคนพิการ ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการ ในขณะเดียวกันสวัสดิการของภาครัฐอาจยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มนี้ได้อย่างพอเพียง ทำให้ต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ขาดหลักประกัน และความมั่นคงในชีวิต และจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พึงปรารถนา ด้วยเหตุนี้กระทรวงการคลังจึงได้จัดทำร่างแผนแม่บทการเงินการคลัง เพื่อสังคม พ.ศ. 2550 -2554
ขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่ดี มีความเข้มแข็ง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยใช้มาตรการทางการเงินการคลังเป็นเครื่องมือ ด้านทวีศักดิ์ มานะกุล ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กรอบแนวคิดร่างแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม พ.ศ.2550-2554 จะวางอยู่บนวิสัยทัศน์ในการสร้างสังคมมีความสุข มีภูมิคุ้มกัน และสามารถพึ่งตนเองได้ โดยขับเคลื่อนผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมพึ่งตนเองอย่างพอเพียงและยั่งยืน 2. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม 3. การสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดี และ 4. การสร้างสังคมสมดุล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ