กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาทภายใต้โครงการ Short-term debenture ของ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (“TLT” หรือ “ผู้ออกหุ้นกู้”) ที่ระดับ “T1+” ในขณะเดียวกันก็คงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันภายใต้โครงการ Medium-term Debenture ในวงเงินรวม 40,000 ล้านบาทของ TLT ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” หุ้นกู้ทั้งหมดดังกล่าวได้รับการค้ำประกันโดย Toyota Motor Finance (Netherlands) B.V. (“TMF” หรือ “ผู้ค้ำประกัน”) โดย TMF เป็นบริษัทลูกของ Toyota Financial Service Corporation (TFS) ที่ถือหุ้น 100% โดย Toyota Motor Corporation (TMC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มโตโยต้า บริษัททั้ง 3 แห่งคือ TMF, TFS และ TMC ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ “AA” จาก Standard & Poor’s (S&P) และระดับ “Aa2” จาก Moody’s Investors Service (Moody’s) รวมทั้งได้รับการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้นที่ระดับ “A-1+” จาก S&P และ “P-1” จาก Moody’s ด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า อันดับเครดิตของหุ้นกู้ระยะปานกลางและระยะสั้นของ TLT สะท้อนถึงการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดย TMF ซึ่งอันดับเครดิตของ TMF อยู่บนพื้นฐานของสถานะอันดับเครดิตของ TMC ภายใต้โครงสร้างการค้ำประกันดังกล่าว TMC ได้ทำสัญญาให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Credit Support Agreement หรือ CSA) กับ TFS ในขณะเดียวกัน TFS ก็ได้ทำสัญญา CSA กับ TMF ด้วยเช่นกัน ภายใต้เงื่อนไขของสัญญา CSA ดังกล่าว TMC จะทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับภาระหนี้หุ้นกู้ หรือพันธบัตร และตราสารทางการเงิน (Commercial Paper) อื่น ๆ ของบริษัทลูกซึ่งได้แก่ TFS และ TMF นอกจากนี้ TMC จะเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอสำหรับเงื่อนไขการค้ำประกันของ TMF ด้วย ทั้งนี้ การค้ำประกันของ TMF บังคับใช้ภายใต้กฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์โดยเป็นการค้ำประกันแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ ซึ่งผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระเงินตามกำหนดเวลาของหุ้นกู้แต่ละชุดที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ของ TLT ทั้งนี้ ภาระการค้ำประกันของ TMF มีสถานะทางกฎหมายอยู่ในระดับเดียวกับตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่น ๆ ของผู้ค้ำประกันที่ออกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือเพิกถอนโดยปราศจากการยินยอมทั้งจากตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ค้ำประกันได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้ำประกันไม่มีภาระในการชำระหนี้ใดใดแทนในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเหตุอันเกิดจากการเข้าแทรกแซง หรือการกระทำต่าง ๆ โดยองค์กรใดใดของรัฐบาลไทย ดังนี้ (1) ชะงักการชำระเงินเนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถโอนเงินไปให้นายทะเบียน หรือผู้ถือหุ้นกู้ หรือไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินที่ต้องชำระตามหุ้นกู้ (2) ทำให้ต้องมีการโอนการถือหุ้นข้างมากหรือการควบคุมผู้ออกหุ้นกู้ไปยังองค์กรอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกของกลุ่มโตโยต้า (3) การเวนคืนหรือการโอนซึ่งทรัพย์สินของผู้ออกหุ้นกู้ให้เป็นของรัฐซึ่งมีมูลค่ารวมอย่างน้อย 10% ของมูลค่าสุทธิของสินเชื่อเช่าซื้อสุทธิของผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ และ (4) การเวนคืนหรือการโอนทรัพย์สินให้เป็นของรัฐอันมีผลทำให้ผู้ออกหุ้นกู้และบริษัทลูกของผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดน้อยมาก
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลประกอบการของ TMC ปรับตัวดีขึ้นในรอบปีบัญชี 2553 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมทั้งจากความพยายามในการลดต้นทุนโดยการริเริ่มโครงการ Emergency Profit Improvement Program และจากผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจให้บริการทางการเงิน ทั้งนี้ TMC รายงานกำไรสุทธิจำนวน 209 พันล้านเยนในรอบปีบัญชี 2553 หลังจากที่มีผลขาดทุนจำนวน 437 พันล้านเยนในรอบปีบัญชี 2552 สำหรับไตรมาสแรกของรอบปีบัญชี 2554 TMC รายงานผลกำไรถึง 191 พันล้านเยนจากที่เคยขาดทุน
จำนวน 78 พันล้านเยนในช่วงเดียวกันของรอบปีบัญชี 2553 อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้ารถยนต์รวมทั้งจากการเรียกคืนสินค้ากลับซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในปลายเดือนมกราคม 2553 โดยการเรียกคืนสินค้ากลับจะก่อให้เกิดต้นทุนพิเศษที่เพิ่มขึ้นและอาจบั่นทอนการฟื้นตัวของผลประกอบการทางการเงินของ TMC
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่ลำดับสุดท้ายของ TLT คือ TMC ซึ่งมีสถานะที่เข้มแข็งในตลาดการค้าที่สำคัญแม้ว่าจะอ่อนตัวลงจากผลกระทบของปัญหาด้านคุณภาพสินค้ารถยนต์ โดยความเข้มแข็งดังกล่าวเกิดจากการขยายขอบเขตธุรกิจสู่ภูมิภาคต่าง ๆ และการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ปัจจุบัน ทั้ง S&P และ Moody’s กำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตของ TMC เป็น “Negative” หรือ “ลบ” ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลต่อความสามารถในการทำไรที่อ่อนแอลงและผลกระทบจากปัญหาคุณภาพสินค้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตในปัจจุบันที่ระดับ “AA” ซึ่งจัดโดย S&P และ “Aa2” โดย Moody’s ยังคงสะท้อนสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ TMC เมื่อเทียบกับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับ National Scale ที่ “AAA” จากทริสเรทติ้ง
บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (TLT)
อันดับเครดิตตราสารหนี้:หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงิน 40,000 ล้านบาท ในโครงการ Medium-term Debenture:
- TLT10NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ AAA
- TLT10NB: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ AAA
- TLT112A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ AAA
- TLT112B: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ AAA
- TLT114A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ AAA
- TLT124A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT128A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT129A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT12DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ AAA
- TLT134A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT136A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT138A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
- TLT13DA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ AAA
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ในโครงการ T1+ Short-term debenture (1/2553) แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)