กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--วช.
เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ไปบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนการวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ รวมถึงได้พบปะหารือกับอธิการบดี ศ.ดร.สุจินต์ จินายน
รองอธิการบดีด้านวิชาการ ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี และรองอธิการบดีด้านวิจัย ดร.สุขกิจ ยะโสธรศรีกุล เกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาด้านการวิจัยและมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ซึ่งในเรื่องนี้ ศ.นพ.สุทธิพร ได้ให้ความเห็นว่า
รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการวิจัย โดยเห็นว่าจะเน้นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาและแก้ปัญหาในทุก ๆ ด้าน เพราะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน มีการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการวิจัยมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนโครงการ “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ” ซึ่งเป็นโครงการ 3 ปีรวมงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในโครงการนี้แม้จะมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยที่มีพื้นฐานและผลงานวิจัยโดดเด่นจำนวน
9 มหาวิทยาลัย มูลค่าประมาณ 3 ใน 4 ของงบประมาณ อีก 1 ใน 4 ก็จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยทั่วไป อื่น ๆ ด้วย แม้ว่าไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกัน แต่ก็ด้วยงบประมาณที่จำกัดและมุ่งจะสนับสนุนส่งเสริมในลักษณะ “ต่อยอด” หรือ “ถมเนิน” ทั้งนี้งบประมาณเพื่อการวิจัยที่จัดสรรในแต่ละปีก็ยังคงอยู่ ทั้งนี้ วช. ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลให้ผลงานวิจัยจากโครงการนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงด้วยนอกเหนือไปจากผลงานตีพิมพ์ในวารสารและการสร้างบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอกกับการสร้างความเข้มแข็งสำคัญกลุ่มวิจัย (Cluster) ที่อาจพัฒนาไปเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้านด้วย
ศ.นพ.สุทธิพร ให้ความเห็นต่อว่า แม้มหาวิทยาลัยนเรศวรจะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนมากเป็นพิเศษก็ไม่ใช่ว่าจะปิดหนทางการพัฒนาด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยเห็นว่ายังสามารถอาศัยเครือข่ายความร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัยดังกล่าวในกลุ่มที่อาจารย์และนักวิจัยของ ม.นเรศวร มีความถนัดและเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ม.นเรศวรและมหาวิทยาลัยในภูมิภาคก็จะมีความได้เปรียบในการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาในพื้นที่ที่จะ
มีส่วนช่วยเหลือภาครัฐและประชาสังคมได้มาก อันจะเป็นผลให้มีผลงานที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยมากขึ้น ๆ ในปีต่อ ๆ ไป ซึ่ง วช. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากสภานิติบัญญัติในการรวบรวมและประเมินผลก็ยินดีที่จะช่วยส่งเสริมมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเหล่านี้ ศ.นพ.สุทธิพร ยังได้ชี้ให้เห็นช่องทางที่จะขอรับการสนับสนุนด้านการวิจัยจากแหล่งทุนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีงบพัฒนาหรือภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่
ศ.นพ.สุทธิพร ยังเสริมว่าที่ผ่านมาระบบวิจัยของไทยยังไม่เข้มแข็ง มีหลายองค์กรที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาการวิจัย แต่ไม่มีความร่วมมือกันเท่าที่ควรทำให้ขาดนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการวิจัยกับมหาวิทยาลัยด้วยกันหรือกับภาคเอกชนต่ำ และผลงานวิจัยยังไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากนัก ทั้งนี้ได้มีการตกลงร่วมมือระหว่างกลุ่มองค์กร ได้แก่ วช. สกว. สวทช. สวรส. และ สวก. อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งเมื่อผนวกกับที่รัฐให้ความสำคัญมากขึ้น จะช่วยให้ระบบวิจัยของประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าและจะทำให้การวิจัยมีบทบาทมากขึ้นส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างแน่นอน รวมทั้งได้เชิญชวนคณาจารย์เข้าร่วมในเวทีต่างๆ ที่จะจัดขึ้นเพื่อการปฏิรูประบบวิจัยด้วย
ในส่วนมหาวิทยาลัยทั้งหลายนั้นแนะนำให้ยึดนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศที่ วช. เป็นแกนในการจัดทำขึ้นหลักจะมีส่วนช่วยให้มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยมากขึ้น รวมถึง วช. เองก็จะได้จัดสรรทุนอุดหนุนในลักษณะบูรณาการในหัวข้อหรือประเด็นสำคัญที่กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติได้ร่วมกันกำหนดขึ้นสำหรับปีนี้ด้วย นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคก็สามารถอิงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านวิจัยระดับภูมิภาคแต่ละภูมิภาคด้วย สุดท้าย
ศ.นพ.สุทธิพร มองเห็นว่าจำเป็นต้องผนึกกำลังในทุกระดับ ทั้งระดับนโยบาย ระดับกำกับและสนับสนุน ระดับปฏิบัติการวิจัย และต้องพิจารณาพัฒนาระบบวิจัยในมิติด้วย จึงจะทำให้การวิจัยเป็นสมองของประเทศได้ตามที่ตั้งวิสัยทัศน์ไว้