กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ธนาคากรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยออก 7 มาตรการ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในทุกภาคส่วน โดยให้เงินกู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซมกิจการและเป็นเงินทุนหมุนเวียน พักชำระหนี้เงินต้นนาน 6 เดือน ด้านลูกค้าที่อยู่อาศัย ให้กู้เพิ่มเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย จัดโครงการกรุงไทยจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลังน้ำลด รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินช่วยผู้ประสบภัยในทุกบัญชี กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือโดยด่วน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีความห่วงใยลูกค้าและประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ผ่านมาได้ให้พนักงานสินเชื่อลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมเยียนรวมทั้งสำรวจความเสียหายอย่างใกล้ชิด ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และเพื่อให้สามารถดูแลลูกค้าในทุกภาคส่วนได้อย่างทั่วถึงและครบวงจร ธนาคารได้ออก 7 มาตรการ เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อน ภายใต้โครงการเงินกู้สู้อุทกภัย 2553 โดยมาตรการแรก ได้แก่ เงินกู้กรุงไทยสู้อุทกภัย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฟื้นฟู ซ่อมแซมกิจการที่ได้รับความเสียหาย ทั้งตัวอาคาร โรงงาน สถานประกอบการ เครื่องจักร สินค้าคงคลัง โดยในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR-1%ต่อปี ในปีแรก หลังจากนั้นคิด MLR ผ่อนชำระนานถึง 5 ปี สามารถใช้หลักประกันเดิม
สำหรับมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย เงินทุนหมุนเวียนกรุงไทยสู้อุทกภัย เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม โครงการกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์กู้เพิ่ม ธนาคารจะผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระ โดยพักชำระเงินต้นนาน 6 เดือน ส่วนดอกเบี้ยสามารถชำระตามเงื่อนไขเดิมหรือชำระเพียงบางส่วน
ทางด้านสินเชื่อบุคคล ธนาคารออกสินเชื่อที่อยู่อาศัยกรุงไทยสู้อุทกภัย ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเต็มตามจำนวนเงินที่ได้ผ่อนชำระกับธนาคาร เพื่อใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยไม่ตรวจสอบประวัติทางการเงิน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR-1.75 % ต่อปี ในปีแรก หลังจากนั้นคิด MRR-0.50% ต่อปี ผ่อนชำระสูงสุดได้นานถึง 60 งวด
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการต่อไปคือ กรุงไทยจับคู่ธุรกิจสู้อุทกภัย โดยจัด Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายกับผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรอุปกรณ์ผู้รับเหมา เพื่อให้สามารถปรับปรุงซ่อมแซมกิจการ ซ่อมบำรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ในราคาพิเศษ สินเชื่อเพื่อพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการฟื้นฟูหลังอุทกภัย ระยะเวลาให้กู้สูงสุด 20 ปี
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ไปจนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย ทั้งการโอนเงินเพื่อบริจาค และโอนเงินเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือกับหน่วยงานของธนาคารในพื้นที่ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ทั้งที่สำนักงานธุรกิจ สาขากว่า 930 แห่งที่กระจายอยู่ประเทศ โดยธนาคารได้กำชับให้หน่วยงานอำนวยสินเชื่อ พิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางที่กำหนดได้ทันที