กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--วช.
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง สภาวิจัยแห่งชาติกับบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านการวิจัยของประเทศ และแนวทางความร่วมมือระหว่างองค์กรนโยบายและสนับสนุนส่งเสริมการวิจัย ว่ารัฐบาลได้มีการระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (๒๕๕๑ — ๒๕๕๔) ไว้อย่างชัดเจนที่ต้องการให้ใช้การวิจัยเป็นพลังขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาในแต่ละด้านของประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ในฐานะฝ่ายปฏิบัติของสภาวิจัยแห่งชาติ พบว่าระบบวิจัยของไทยประสบปัญหาหลายประการตั้งแต่ การขาดความเป็นเอกภาพ ขาดนโยบายและแผนวิจัยที่สามารถนำไปสู่เป้าหมายที่ประเทศต้องการ งบประมาณเพื่อการวิจัยมีจำนวนน้อย โดยในช่วง ๒-๓ ปี ที่ผ่านมามีประมาณ ๐.๒ % ของรายได้สหประชาชาติ (GDP) การขาดแคลนนักวิจัย โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เพียงพอต่อการพัฒนางานวิจัยระดับสูง งานวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับภาครัฐและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ศ.นพ.สุทธิพร เลขาฯ วช. กล่าวต่อไปอีกว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นที่รับรู้และตระหนักดี พร้อมทั้งมีความพยายามในการแก้ปัญหาในหลายรูปแบบ ดังนั้น ครม. จึงมีการกำหนดให้ วช. จัดทำนโยบายและแผนการวิจัยโดยส่วนรวมเพื่อกำหนดเงินงบประมาณประจำปีเพื่อการวิจัย เป็นผู้พิจารณาแผนงานและโครงการที่เสนอของบป้องกันการซ้ำซ้อนและประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เสนอทุน ทั้งติดตามผลโครงการวิจัยและแผนงาน ทั้งนี้ให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ถือปฏิบัติตามมติ
มีการจัดตั้ง สกว. สวทช. สวรส. สวก. และมีการแยกหน่วยงานที่เคยอยู่ภายใต้สภาวิจัยแห่งชาติไปจัดตั้งองค์กรที่มีความอิสระคล่องตัวได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ องค์กรเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ (GISTDA) ในรูปขององค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐ มีการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อเชื่อมต่อและสนับสนุนต่อการที่เอกชนนำเอาผลการวิจัยหรือเทคโนโลยีใหม่ไปใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ
การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงทางทหาร เป็นองค์กรอิสระ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาวุธยุทโธกร สวทน. ดำเนินการจัดทำแผนและนโยบายแผนพัฒนาด้านวิทยาการและเทคโนโลยีโดยเฉพาะ THAIST เป็นสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังกัด สวทน. จัดตั้งโครงการมหาวิทยาลัยแห่งชาติ รับผิดชอบโดย สกอ. สนับสนุน ๙ มหาวิทยาลัยให้มีความเข้มแข็งด้านวิจัยให้มากขึ้น ความร่วมมือจากภาคเอกชนและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เครือซีเมนต์ไทย (SCG) ปตท. IRPC ในเรื่องการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนางานวิจัย
เลขาฯ วช. กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๐ มีมติ ครม. เห็นชอบให้ วช. นำเอาระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Project Management — NRPM) เป็นเครื่องมือบริหารกระบวนการงบประมาณการวิจัยของประเทศในส่วนงบภาครัฐ และในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ เห็นชอบให้ วช. รับผิดชอบหลักในดำเนินการปฏิรูปการวิจัยของประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างความพยายามในการแก้ปัญหาในหลายรูปแบบที่ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาด้านการวิจัยของประเทศ และแนวทางความร่วมมือระหว่างองค์กรนโยบายและสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยอีกต่อไป