iTAP จับมือกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ทุ่มงบกว่า 7 ล. ต่อยอดพัฒนาเตาอบยางประหยัดพลังงานแก่ สกย.เพิ่มอีก 12 แห่ง แก้ปัญหาต้นทุนการผลิต

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2010 09:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สวทช. โครงการ iTAP (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ต่อยอดการพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานแก่สมาชิกสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) เพิ่มอีก 12 แห่ง ใน 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร , สุราษฎร์ธานี พัทลุง และ นครศรีธรรมราช) ใช้งบสนับสนุนกว่า 7 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควัน หลังประสบความสำเร็จจากการพัฒนาเตาอบยางฯ นำร่องของ สกย.บ้านหนองแดงสามัคคี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถประหยัดพลังงานและลดการใช้ไม้ฟืนลงได้กว่า 40% ในกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อต้นทุนการผลิตการแปรรูปยางพารา โดยเฉพาะการอบรมควันยางและคุณภาพของยางแผ่นรมควันที่ได้คือ “เตาอบรมควันยางแผ่น” ขณะที่เตาอบแบบเดิมที่ใช้กันอยู่สร้างขึ้นมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2537 และยังไม่เคยมีการปรับปรุงเทคโนโลยี ทำให้มีประสิทธิภาพต่ำ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและพลังงาน เพราะส่วนใหญ่ใช้ฟืนจากไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่ไม้ยางพารามีราคาสูงส่วนหนึ่งมีผลมาจากการแข่งขันทางด้านการตลาดที่มีการนำไม้ยางพาราไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นมากขึ้น จนทำให้กลุ่มเกษตรกรในรูปสหกรณ์กองทุนสวนยาง(สกย.)ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 700 แห่งในภาคใต้ ประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาอบรางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน” ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยได้มีการเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมา ล่าสุดได้ขยายไปยังสหกรณ์กองทุนสวนยาง(สกย.)อีก 12 แห่ง หลังเตาอบต้นแบบของสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.)บ้านหนองแดงสามัคคี อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสามารถประหยัดพลังงาน ลดการใช้ไม้ฟืนลงได้กว่า 40% รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ในฐานะกำกับดูแลโครงการ iTAP กล่าวว่า จากผลความสำเร็จในการสร้างและทดลองใช้เตาต้นแบบที่ สกย.บ้านหนองแดงสามัคคี เมื่อกลางปี 2552 นอกจากจะสามารถประหยัดพลังงานและเวลามากกว่า โดยลดการใช้ไม้ฟืนลงกว่า 40% ระยะเวลาสั้นลงจาก 4 วันเหลือ 3 วัน และมีการนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่แล้ว ปริมาณยางเสียยังลดลง10% ทำให้ต้นทุนในการรมควันยางลดลงได้มากกว่า 30 - 40% คุณภาพยางที่ได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น ล่าสุด ได้ขยายผลไปยังกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเพิ่มอีก 12 แห่ง ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร 1 แห่ง , สุราษฎร์ธานี 3 แห่ง , นครศรีธรรมราช 5 แห่ง และพัทลุงอีก 3 แห่ง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบเตาอบยางแผ่นแบบเก่ามาเป็นเตาอบยางแผ่นรมควันแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ หลังผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากจำนวนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเบื้องต้นกว่า 31 แห่ง การดำเนินการดังกล่าวใช้งบประมาณประจำปี 2553 จากการสนับสนุนของ 2 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และโครงการ iTAP (สวทช.) รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 7 ล้านบาท โดย iTAP จะให้การสนับสนุนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนค่าจ้างสร้างเตาฯ และค่าที่ปรึกษาร้อยละ 70 รวมเป็นเงินสนับสนุนกว่า 2.8 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดสร้างเตาอบฯแบบใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนค่าดำเนินการจัดทำเตา,ค่าอุปกรณ์และค่ารับเหมา มูลค่าเตาละ 466,000 บาท / 1 สหกรณ์ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นเงิน 300,000 บาทต่อเตา ส่วนเงินสมทบอีก 166,000 บาท iTAP สนับสนุนให้ร้อยละ 70 หรือคิดเป็น 116,200 บาทต่อราย ส่วนที่เหลืออีก 49,800 บาท ทางผู้ประกอบการ หรือสกย.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง และอีกส่วนหนึ่งคือ ส่วนของค่าที่ปรึกษา รายละ 172,000 บาท iTAP สนับสนุนร้อยละ 70 หรือคิดเป็น 120,400 บาทต่อราย รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 2553 — พ.ค. 2554 โดยมีคณะที่ปรึกษาของ iTAP จากสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 3 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) , มหาวิทยาลัยมหานคร และมหาวิทยาลัยทักษิณ (วิทยาเขตพัทลุง)จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและควบคุมการทำโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการทดสอบการใช้งานจริง เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพของเตาอบยางแผ่นที่ส่งมอบให้แก่สหกรณ์ฯ รศ.ดร.สมชาย อีกกล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี และต้องการเห็นการพัฒนาเตาอบฯแบบใหม่นี้ให้กับ สกย.อื่นๆเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ทั่วประเทศมีสมาชิก สกย.อยู่กว่า 700 แห่ง แต่เนื่องจากโครงการนี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง iTAP ไม่สามารถสนับสนุนได้ทั้งหมด จะต้องได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร ซึ่งนอกจากอุตสาหกรรมจังหวัดแล้วยังเห็นว่าจำเป็นต้องมีพันธมิตรอย่างสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาสนับสนุนด้านสินเชื่อ เช่น SMES Bank หรือ ธนาคารอิสลาม เป็นต้น ส่วนจะขยายความร่วมมือดังกล่าวเมื่อใดนั้น คงต้องรอดูผลงานจาก 12 แห่งอีกครั้งเนื่องจากติดปัญหาด้านผู้เชี่ยวชาญที่ยังมีค่อนข้างน้อย หากขยายการสนับสนุนเพิ่มในขณะนี้อาจส่งผลให้การดูแลได้ไม่ทั่วถึง ล่าสุดได้มีการจัดประชุมเชิงปฎิบัตการด้านเงินสมทบสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมขึ้น ระหว่างวันที่ 12 -13 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมชัยคณาธานี อ.เมือง จ.พัทลุง โดยมีสมาชิกสหกรณ์กองทุนสวนยาง(สกย.)ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 12 แห่งเข้าร่วมรับฟังและทำความเข้าใจถึงขั้นตอน และกิจกรรมการดำเนินการต่างๆ ของโครงการฯ “.... ผู้สนใจต้องการขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตหรือพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ติดต่อได้ที่โครงการ iTAP โทร. 2-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP หรือดูผลงานของโครงการ iTAP ที่ผ่านมา และ สาระความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ www.creativeenterprise.in.th ”….. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 115,114

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ