“ชัยวุฒิ”มั่นใจภาคอุตฯแข็งแกร่ง การผลิตพุ่งพรวด 11 เดือนติด

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2010 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น ภาคอุตฯขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ตอกย้ำฐานการผลิตมั่นคง ส่งผลให้ดัชนีอุตฯก.ย.พุ่ง 8.13% การผลิต Hard disk drive ชิ้นส่วนอิเล็กฯ-แอร์-เครื่องสุขภัณฑ์-เม็ดพลาสติก ยอดผลิตและจำหน่ายคึกคัก ขณะเดียวกันประเมินสถาณการณ์บาทแข็ง น้ำท่วม อย่างใกล้ชิด เตรียมมาตราการเยียวยา นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ของประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 แม้ต้องเผชิญภาวะการแข็งค่าของเงินบาท แต่ผู้ประกอบการในหลายสาขาอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากได้มีการผลิตตามคำสั่งซื้อล่วงหน้า (ออร์เดอร์)ที่มีเข้ามาก่อนเกิดภาวะเงินบาทแข็งค่า โดยมีออร์เดอร์ล่วงหน้าประมาณ 3-6 เดือน รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายได้มีการประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้วจึงยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ณ สถาณการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและประสบปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอยุทธยา และนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนกันยายน 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน หลังจากเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก เมื่อกลางปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 ที่ผ่านมา โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตภาพรวมเฉลี่ย 64.36% อุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการขยายตัวของ MPI เดือน ก.ย.เมื่อเทียบกับเดีอนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การผลิต Hard disk drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ (แอร์) ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เป็นต้น การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเท่ากัน 6.3% โดยฟื้นขึ้นมาเป็นบวกอีกครั้งหลังชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเดือนก่อน เนื่องจากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส ผู้ผลิตจึงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้ทันกับคำสั่งซื้อ และเพื่อปิดยอดรายไตรมาสให้ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก แต่ผู้ผลิต Hard Disk drive ได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยคาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะมียอดการผลิตและจำหน่ายอย่างคึกคักเป็นไปตามทิศทางความต้องการของตลาดโลก การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 21.4%และ20.2% ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของตลาดโลก โดย Semiconductor Industry Association : SIA ได้รายงานสถานการณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ยอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แม้จะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างช้าๆก็ตาม โดยคาดว่าในปี 2553 อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสขยายตัวได้สูงถึง 28.4% การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 41.9%และ37.8% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งเอื้อต่อการขยายตัว คือ การยกเว้นภาษีสรรพสามิตแอร์เป็น 0% จากเดิม 15% อย่างไรก็ตามในไตรมาสสุดท้าย หากต้องเผชิญกับปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้นและราคาวัตถุดิบที่มีการปรับตัวสูง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเหมือนบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรต้องเร่งหามารตการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 25%และ13.7% ตามลำดับ เนื่องจากเป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโครงการหมู่บ้านจัดสรรค์และคอนโดมิเนี่ยม ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆที่รัฐบาลไฟเขียวให้มีการก่อสร้าง จึงส่งผลต่อการผลิตและจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว การผลิตเม็ดพลาสติก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 12.7%และ18.3% ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จึงมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ รวมทั้งเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนกันยายน 2553 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 201.45 เพิ่มขึ้น 8.13% จากระดับ 186.31 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 204.35 เพิ่มขึ้น 8.03% จากระดับ 189.15 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 183.26 เพิ่มขึ้น 9.34% จากระดับ 167.62 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 123.69 เพิ่มขึ้น 8.19% จากระดับ 114.32 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ133.18 เพิ่มขึ้น 1.50% จากระดับ 131.22 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.36%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ