กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการค้าประเทศกลุ่มอียู ชี้หลายประเทศเตรียมเข้มกฎระเบียบการใช้สารเคมี แนะผู้ประกอบการส่งออกเตรียมความพร้อมเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานไปในทิศทางเดียวกัน
จากการที่สหภาพยุโรป หรือ EU ได้บังคับใช้ประกาศ กฎระเบียบว่าด้วยเคมีภัณฑ์ (Registration Evaluation Authorization and Restriction of Chemicals: REACH) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 และถือเป็นกฎหมายสารเคมีของ EU ซึ่งมีข้อบังคับมากมายหลายประเด็น เช่น ต้องมีการจดทะเบียนสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Registration) ประเมินความเสี่ยง (Evaluation) การใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Authorization and Restriction of Chemicals) ฯลฯ ประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ที่มีการส่งออกไปยัง EU ได้เตรียมการตั้งรับอย่างเร่งด่วน
โดย คณะรัฐมนตรีไฟเขียวให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 ให้ใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปี (พ.ศ. 2551-2553) จำนวน 625.67 ล้านบาท ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 แนวทาง คือ 1.สร้างองค์ความรู้และพัฒนาฐานข้อมูล 2.พัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ และ 3.จัดทำระเบียบมาตรฐานและระบบการจัดการเศษซาก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาตลาด EU ได้และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มขึ้นต่อไป
โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ดำเนิน “โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบของไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการค้ากับสหภาพยุโรป” เพื่อทำการศึกษากฎระเบียบของสหภาพยุโรป การปรับปรุงกฎระเบียบของประเทศอื่นๆ ทำการเปรียบเทียบกับกฎระเบียบของไทย และศึกษาความพร้อมของผู้ประกอบการ เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบที่เหมาะสมกับประเทศไทย
สำหรับการวิเคราะห์กฎระเบียบของแต่ละประเทศและการประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น พบว่านานาประเทศมีแนวปฏิบัติที่ไปในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่การวางนโยบายที่ชัดเจนถึงแนวทางการจัดการสารเคมีในประเทศ และเมื่อมีการเตรียมที่จะยกร่างกฎระเบียบด้านการจัดการสารเคมี ต่างก็จัดให้มีการระดมความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปรับปรุงร่างกฎระเบียบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาของประเทศนั้นๆ ในขณะเดียวกันมีการเตรียมความพร้อมทางกฎหมาย ทุกประเทศต่างก็ต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถรองรับการจดทะเบียน การทดสอบสารเคมี และการจัดทำฐานข้อมูลที่จำเป็นได้ โครงสร้างพื้นฐานที่มีการปรับปรุงไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่
- บุคคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอที่จะทำการทดสอบสารเคมี
- ห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมีที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
- มาตรฐานและวิธีการในการทดสอบสารเคมี
การเตรียมการทั้งหมดนี้เพื่อให้การบังคับใช้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในประเทศ เพราะหากมีการบังคับใช้กฎระเบียบในขณะที่ไม่มีห้องปฏิบัติการหรือมาตรฐานการทดสอบอยู่ การบังคับใช้ย่อมไม่สัมฤทธิ์ผล
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎระเบียบ REACH ในประเทศไทยนั้น พบว่ามีประโยชน์หลายด้านด้วยกัน เช่น ช่วยให้สุขภาพของแรงงานและประชาชนที่ดีขึ้น สามารถประเมินค่าได้จากค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้สารเคมีที่ต้องจดทะเบียน นั่นคือหากมีการจดทะเบียนสารเคมีมากชนิด หมายความว่าสารเคมีที่เข้าสูระบบการจัดการมีมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจึงลดลง คุณภาพชีวิตของแรงงานจึงสูงขึ้นด้วย ผลประโยชน์ที่ 2 เป็นการวัดการลดลงของการสูญเสียประสิทธิภาพในการผลิต โดยหากมีการจัดการสารเคมีได้มากขึ้น การสูญเสียประสิทธิภาพในการผลิตย่อมลดลงได้มากขึ้นตามไปด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 2024371 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม