Real Parenting Poll ครั้งที่ 3 “ถึงเวลา...เปิดใจคุยเรื่องเพศกับลูกหรือยัง?”

ข่าวทั่วไป Wednesday March 14, 2007 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
นิตยสาร Real Parenting คู่มือแท้จริงเพื่อชีวิตสมดุลของพ่อแม่ยุคใหม่ที่มีลูกวัย 0-12 ปี ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้สำรวจเรื่องการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาแก่ลูกและความวิตกกังวลต่อภัยคุกคามทางเพศในเด็ก จากกลุ่มคุณแม่วัย 26 - 40 ปี จำนวน 400 คน ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา จำแนกกลุ่มแม่ตามอายุบุตรด้วยสัดส่วนเท่าๆ กัน 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีบุตรอายุ 1-3 ปี, 3-5 ปี, 5-8 ปี และ 8-12 ปี เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างด้านทัศนคติและปัญหาของบุตรแต่ละช่วงวัย
“ 84.3% พ่อแม่ยุคใหม่ ยืนยันว่าลูกสนิทสนมกับตนมากที่สุด เพราะเกือบทุกวันมีโอกาสรับประทานอาหารและดูโทรทัศน์ร่วมกัน แต่ในความเป็นจริง เมื่อยามลูกต้องการคำปรึกษา กลับมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่กล้าพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ให้พ่อแม่ทราบ โดยเฉพาะเรื่องเพศศึกษาซึ่งเปรียบเสมือนเรื่องต้องห้ามสำหรับสังคมไทย ”
คำถามง่ายๆ ที่ตอบยาก
ผลสำรวจพบว่าเด็กอายุเฉลี่ย 4.1 ปี ขณะที่ต่ำสุด 1.2 ปี เริ่มอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศศึกษา และมักจะถามตรงๆ จากพ่อแม่ โดยเรื่องที่ถูกถาม 5 อันดับแรก สรุปได้ดังนี้
- อับดับ 1 เพศสัมพันธ์และการให้กำเนิด 41.5% เช่น หนูเกิดมาได้อย่างไร, คุณแม่คลอดหนูออกจากตรงไหน,
เมื่อเห็นฉากเลิฟซีนในละคร / ภาพยนตร์ จะสงสัยว่าเขาทำอะไรกัน
- อับดับ 2 การเปลี่ยนแปลงทางเพศ 39.8% เช่น ทำไมผู้หญิงต้องมีประจำเดือน, ทำไมผู้หญิงโตขึ้นแล้วหน้าอกใหญ่ขึ้น
- อันดับ 3 ความแตกต่างทางเพศ 26.1% เช่นทำไม (อวัยวะเพศ) ของหนูไม่เหมือนกับเพื่อนผู้ชาย,ทำไมผู้หญิงกับผู้ชายเข้าห้องน้ำห้องเดียวกันไม่ได้, ทำไมผู้ชายยืนฉี่ได้ แต่ผู้หญิงยืนฉี่ไม่ได้
- อันดับ 4 เกี่ยวกับภัยคุกคามทางเพศ 25.8% เช่น ทำไมต้องระวังคนแปลกหน้า,ลวนลามคืออะไร, ข่มขืนคืออะไร, เรียงคิวคืออะไร
- อันดับ 5 ค่านิยมและบทบาททางเพศในสังคม18.8% เช่น ผู้หญิงกับผู้ชายที่เดินจับมือกันเป็นแฟนกันใช่ไหม, ทำไมคนที่ยังไม่ได้แต่งงานกันจึงมีลูกได้
และเมื่อต้องไขข้อข้องใจเรื่องเพศศึกษาแก่ลูกน้อย พบว่าพ่อแม่มีความลำบากใจระดับปานกลางด้วยคะแนนเฉลี่ย 6.9 เต็ม 10 คะแนน และมีแนวโน้มลำบากใจมากยิ่งขึ้น หากต้องตอบคำถามจากลูกที่โตขึ้น เนื่องจากอิทธิพลของสื่อที่มีการนำเสนอเรื่องนี้อย่างเปิดเผยมากขึ้น
อย่างไรก็ตามพ่อแม่ 78.8% ยังมั่นใจว่าตนเองเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาแก่ลูก ขณะที่ 20.3% เห็นว่าครู / อาจารย์ เหมาะสมกว่า และต้องการให้ทางโรงเรียนเริ่มสอนเพศศึกษาตั้งแต่เด็กยังเรียนอยู่ชั้นประถม 5-6
พฤติกรรมชวนเครียด ...5 พฤติกรรมเกี่ยวกับภัยคุกคามทางเพศที่ส่งผลให้พ่อแม่หวั่นวิตกว่าจะเกิดภัยคุกคามกับบุตรหลาน ได้แก่
1. การเดินทางไปในที่ต่างๆ ตามลำพัง ซึ่งลูกมักจะคิดว่าไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้ แต่ในความเป็นจริง กลับสร้างความปวดหัวไม่น้อย ทั้งนี้พบว่าพ่อแม่วิตกกังวลต่อลูกทุกช่วงวัยไม่แตกต่างกัน
2. การไว้ใจคนแปลกหน้า โดยเฉพาะมิจฉาชีพในปัจจุบันมักจะแอบแฝงตัวในคราบของผู้ใหญ่ใจดี
3. การถูกลวนลาม / ข่มขืน พบว่าเด็กอายุ 1-3 ปี เป็นวัยที่พ่อแม่เป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้
4. การเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในทางที่ผิด โดยสื่อที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันดับหนึ่งคือ โทรทัศน์ 51.5% แม้จะมีการจัดเรทติ้งและความเหมาะสมของผู้ชม แต่ก็ยังทำให้พ่อแม่กังวลไม่น้อย เนื่องจากไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา รองลงมา 37.4% CD / VCD / DVD ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดและมีราคาถูก 18.7% ถามจากเพื่อน / คนรู้จัก18.3% หนังสือ และ 17.5% นิตยสาร
5. การคบเพื่อนต่างเพศ พ่อแม่ 82.6% มั่นใจว่าลูกของตนมีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเพศศึกษาเหมาะสมตามวัยและเด็กวัยประถมศึกษามีพฤติกรรมเสี่ยงน้อยจึงไม่วิตกกังวลมากนัก
มุมมองและประสบการณ์ของผู้ที่คลุกคลีกับเด็กและประเด็นเรื่องเพศ
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายว่าทัศนคติเรื่องเพศของพ่อแม่ไทยอาจแบ่งได้เป็น กลุ่มสุดโต่ง ซึ่งมีทั้งแบบที่สอนมากเกินไปหรือไม่สอนเลยปล่อยให้ลูกเรียนรู้เอง กับ กลุ่มที่เดินทางสายกลาง พร้อมที่จะพูดคุยและเรียนรู้ไปกับลูก ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสม โดยพ่อแม่กลุ่มแรกจะมีมากกว่ากลุ่มหลังกว่าครึ่ง หมายความว่าในสังคมเรายังมีพ่อแม่ที่ให้ความรู้เรื่องเพศแก่ลูกอย่างไม่เหมาะสมมากอยู่
คุณนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้แสดงทรรศนะที่คล้ายคลึงกับคุณหมอพรรณพิมลว่า ”คนเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมปิดในเรื่องเพศ ในครอบครัวพ่อแม่ไม่ค่อยพูดเรื่องเพศกับลูกหรอก แต่ที่เห็นอยู่ทุกวันเรากลับเปิดมากในด้านการกระทำและการแสดงออก และที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกก็มีความคิด ความเชื่อของเขาเอง และเราไม่อาจปกป้องลูกได้ตลอดเวลา หากเขาพลาดพลั้งไป เราก็ต้องช่วยประคับ ประคอง ช่วยเหลือดูแลกันไป ให้บทเรียนว่าจะทำอย่างไรต่อไปโดยที่ไม่ซ้ำเติมกัน”
จะเห็นได้ว่าคำถามเรื่องเพศศึกษาที่เด็กสงสัย ล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่พ่อแม่ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี หากแต่ในสังคมไทยยังไม่เปิดใจคุยกันอย่างจริงจัง ซึ่งผลจากการไม่พูดคุยอย่างตรงไปตรงมา จึงเกิดคำถามว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่คุณจะคุยเรื่องเพศศึกษากับลูก”
* ติดตามรายละเอียดได้ในนิตยสาร Real Parenting ฉบับมีนาคม 2550*
บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) : ชมัยพร จนท.วิจัยและพัฒนา โทร 02-422-9999 ต่อ 4121

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ