กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ตลท.
บริษัทจดทะเบียนมีกำไรงวดไตรมาสแรกปี 2550 รวม 116,634 ล้านบาท และมียอดขายรวม 1,373,419 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีกำไรสูงสุดคือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และ ก่อสร้าง PTT, SCC, PTTEP, TOP และ BBL เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2550 ว่า บริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จำนวน 511 บริษัท (ร้อยละ 96 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 535 บริษัท รวม กองทุนอสังหาริมทรัพย์) ได้นำส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2550 ซึ่งปรากฏว่ามีกำไรสุทธิรวม 116,634 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 30,908 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 21
สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 491 บริษัท (รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์) นำส่งงบการเงิน 468 บริษัท มียอดขาย 1,364,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และมีกำไรสุทธิ 116,255 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21 โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 361 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 107 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 77 ต่อ 23
ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่ส่งงบการเงิน 43 บริษัท จาก 44 บริษัท (อีก 1 บริษัทมี งบการเงินไม่ตรงงวด) มีกำไรสุทธิ 379 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และมียอดขายรวม 8,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 มีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 35 บริษัท ขาดทุนสุทธิ 8 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 81 ต่อ 19
นางภัทรียากล่าวว่า “สาเหตุหลักที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ปี 2550 ลดลงจากงวด เดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 21 เหลือร้อยละ 20 ประกอบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงร้อยละ 55 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่งผลให้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 รวมทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39)”
สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 105,525 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของกำไรสุทธิรวม ลดลงร้อยละ 14 ส่วนยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 แต่มีต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงเป็นร้อยละ 21 ส่วนบริษัท จดทะเบียนในกลุ่ม SET50 กำไรสุทธิ 99,977 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86 ของกำไรสุทธิรวม ลดลงร้อยละ 12 โดยมี ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงเป็นร้อยละ 21
สำหรับบริษัทที่มีมูลค่ากำไรสุทธิรวมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่าย อาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance: NC) และบริษัทในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group: NPG) จำนวน 455 บริษัท มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกำไรสุทธิรวม 116,378 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.8 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม โดยผลการดำเนินงานเรียงตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วยหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่มีกำไรสุทธิ 48,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น แต่มีต้นทุนขายเพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน
2. กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 23,276 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 20,456 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22 โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธปท. เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39)
สำหรับบริษัทในหมวดเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 19 บริษัท มีกำไรสุทธิ 938 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 48 เนื่องจากบริษัทเงินทุนมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสำรองตามเกณฑ์ใหม่ของธปท. เพื่อให้สอดคล้องกับ IAS 39 เช่นเดียวกับธนาคาร ส่วนหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 1,060 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3
3.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้างและ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 16,984 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เนื่องจากภาวะการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับการชะลอการใช้จ่ายของโครงการพื้นฐานต่าง ๆ
4. กลุ่มบริการ ประกอบด้วยหมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดบริการเฉพาะกิจ และหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ มีกำไรสุทธิ 14,989 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27 โดยยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยหมวดที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เนื่องจาก BEC มีการเพิ่มอัตราการใช้เวลาโฆษณาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และหมวดการแพทย์ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เนื่องจากการขยายตัวของรายได้ค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง
5. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดเครื่องมือและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ มีกำไรสุทธิ 8,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในขณะที่กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง
6.กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 2,685 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีกำไรสุทธิสูงขึ้นร้อยละ 45 เนื่องจากยอดขายสูงขึ้นร้อยละ 22 และมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
7. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 1,349 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36
8. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดการเกษตร มีกำไรสุทธิ 888 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 71 เนื่องจากภาวะตกต่ำของราคาเนื้อสัตว์ในประเทศและการส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้น
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / ศรินทร์ลักษณ์ จิตกะวงศ์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797