กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กก.
นาย ชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(รมว.กก.) และนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษารมว.กก. เป็นประธานในการตรวจติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับนายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะกรรมการตรวจการจัดจ้าง ผู้บริหารของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารกิจการร่วมค้าอีเอ็มซีและเพาเวอร์ไลน์ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ณ สถานที่ก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ถนนเลียบคลองชลประทาน หนองฮ่อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเยี่ยมชม/รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน — เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2553
นาย ชุมพล ศิลปอาชา รมว.กก. เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงนามสัญญาจ้าง กิจการร่วมค้าอีเอ็มซีและเพาเวอร์ไลน์ ทำการก่อสร้าง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2554 กำหนดแล้วเสร็จ ภายใน 730 วัน โดยศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินี้ มีเนื้อที่ 326 ไร่ วงเงินการก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 1,867,150,000 บาท โดยแบ่งเป็นงานLandscape และภายนอกอาคาร วงเงิน 457,451,750 บาท งานอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 1,112,821,400 บาท และ งานสร้างศูนย์สิ่งเสริมการพัฒนาและกระจายสินค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 296,876,850 บาท หากงานก่อสร้างล่าช้ากว่าที่ทำสัญญ าไว้จะมีค่าปรับวันละ 186,715 บาท มีบริษัท เอเชีย คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ในวงเงินทั้งสิ้น 21,118,830.80 บาท
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติของรัฐบาล ในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทย ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไทย โดยการก่อสร้างศูนย์ประชุมดังกล่าวจะสนับสนุนให้เชียงใหม่ เป็นเมืองศูนย์กลางการประชุมนานาชาติระดับภูมิภาค รองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าและคุณค่าสินค้าการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดการประชุมในระดับนานาชาติ และเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพให้ไทย ในการรองรับตลาดตลาดการประชุมและแสดงสินค้า(MICE - Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) โดยศูนย์ประชุมดังกล่าวสามารถรองรับคนได้กว่า 10,000 คน ซึ่งจะมีห้องประชุมใหญ่ รองรับคนได้ 3,000 คน ห้องประชุมเล็ก/ย่อยต่างๆ รองรับคนได้ 3,000 คน ศูนย์/ห้องอาหาร รองรับคนได้ 2,000 คน และพื้นที่จอดรถ รองรับได้ 3,000 คัน และมีพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ไม่ว่าสระน้ำ/อ่างเก็บน้ำ สำนักงาน ร้านค้า ของที่ระลึก นิทรรศการ ธนาคาร ไปรษณีย์ ขนส่ง บริษัททัวร์ หน่วยงานราชการลักษณะบริการแบบเบ็ดเสร็จ และอื่นๆ ในการรองรับธุรกิจตลาดMICE
นายชุมพล เปิดเผยถึง ในการติดตามความคืบหน้าการสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ว่า เพื่อจะเร่งรัดให้การก่อสร้างเป็นไปตามสัญญา และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตลอดจนลดอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแบบก่อสร้าง เปลี่ยนผู้รับผิดชอบ เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้งแล้ว ทำให้ปัญหา อุปสรรค และความต่อเนื่องในการดำเนินจะต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยในขณะนี้เหลือเวลาก่อสร้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ อีกประมาณ 330 วันหรือ 11 เดือน ทางกรมทางหลวงชนบท ได้เตรียมงบก่อสร้างถนนโดยรอบศูนย์ประชุมฯ จำนวน 3 สาย วงเงินก่อสร้างประมาณ 120 ล้านบาท ในช่วงปี 2554-2555 ในส่วนของกรมชลประทาน ได้มีการเตรียมดำเนินการสร้างระบบระบบน้ำ และการจัดทำแหล่งน้ำ สนับสนุนโครงการศูนย์ประชุมฯ วงเงินก่อสร้างประมาณ 90 ล้านบาท ในช่วงปี 2554-2555 สำหรับการมาตรวจเยี่ยมศูนย์ประชุมแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นการสรุปตรวจเยี่ยมในงวดที่ 2.5 -2.6 เป็นส่วนงานภายนอก ศูนย์ประชุมงาน SME ความคืบหน้าผ่านไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ คือเรื่องการก่อสร้าง ส่วนงานประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำเป็นไปตามแผน แต่อาจจะช้ากว่าแผนเล็กน้อย คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คงจะปรับแผนนิดหน่อย ภาพรวมในผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จตามแผนทุกอย่างภายในสิ้นปี 2554 ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตั้งคณะกรรมการ เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารศูนย์ประชุม ทั้งในส่วนของเรื่องแนวทางการตลาด แนวทาง การวางแผนการขายพื้นที่และการให้บริการล่วงหน้า รวมทั้งเรื่องการตกแต่งภายในด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปิดท้ายว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีการยังคงเร่งรัด ติดตามการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อพี่น้องชาวเชียงใหม่ ภาคธุรกิจไมซ์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จะได้เกิดความเชื่อมั่น ในการพัฒนาศูนย์ประชุมฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาการบริหารจัดการของศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ให้ตรงกับความต้องการในพื้นที่ และตลาดนานาชาติ โดยจะมอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษาเชียงใหม่ ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ในวงเงิน 5 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการก่อสร้าง ซึ่งน่าจะสรุปผลที่ดี และคุ้มค่าได้เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถรองรับการดำเนินงานเต็มรูปแบบในอนาคตนี้ อันจะทำให้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ และบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ไปสู่ระดับนานาชาติ(World Class Destination) ในราวๆปลายปี 2554 เชื่อมั่นว่า ชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยว จะได้ยลโฉมและใช้บริการศูนย์ประชุมฯ พร้อมกับการปรับพื้นที่อำนวยความสะดวกโดยรอบศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ที่มีถนนที่กว้างขวาง สะดวก ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และสาธารณูปโภคต่างๆในระดับนานาชาติ ให้บริการทั้งนักท่องเที่ยว ประชาชนชาวเชียงใหม่ และใกล้เคียงได้เป็นอย่างดีต่อไป