กระทรวงอุตฯ ไฟเขียว MTEC จัดระเบียบคาร์บอนฟรุตพริ้นท์

ข่าวทั่วไป Monday November 1, 2010 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตฯ เร่งเยียวยาโลกร้อน ไฟเขียว MTEC ลุยโครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในผลิตภัณฑ์ เสริมพลังผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ฝ่าด่านมาตรการกีดกันการค้า ของประเทศคู่ค้าทั่วโลก นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผย กระแสโลกร้อน เป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกต้องเร่งหาทางเยียวยาให้โลกเย็นลง มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าทั่วโลก จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงขานรับทิศทางดังกล่าว เพื่อช่วยคลีคลายปัญหาโลกร้อน โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกันกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เร่งดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้พิจารณาประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ อันจะเป็นการยกระดับการพัฒนาของผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ ให้ผู้บริโภคได้มีสิทธิ์เลือกใช้มากขึ้น เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและรับผิดชอบต่อโลกร่วมกันได้อีกทางหนึ่ง โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการตาม“มาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบ ของประเทศคู่ค้า” กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจการค้ากับระเทศคู่ค้าที่สำคัญได้ทั่วโลก นางสุทธินีย์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่อง “คาร์บอนฟุตพริ้นท์" อาจจะเป็นเรื่องยากต่อการอธิบายให้เข้าใจอย่างทั่วถึง แต่สามารถอธิบายให้เป็นภาง่ายๆได้ คือ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์" หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่วัตถุดิบนำมาผลิตเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการกำจัดเศษซาก หรือนำกลับมาใช้ใหม่ โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent; CO2-eq) “ก๊าซเรือนกระจก ตามที่ระบุในพิธีสารเกียวโต มี 6 ตัว ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O), ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) และ เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ดังนั้น เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ติดบนสินค้าต่างๆ นั้น เป็นการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ เช่นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) ของเสื้อยืดผ้าฝ้าย 100% ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) ของข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เป็นต้น โดยขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น และมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีการบังคับใช้ฉลากชนิดนี้ในรูปแบบของกฏหมาย แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกบังคับจากคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม” นางสุทธินีย์ ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยดำเนินโครงการนำร่องการใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ต้นปี 2552 และมีการรับรองผลิตภัณฑ์กลุ่มแรก อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2552 จนถึงขณะนี้ มี 63 ผลิตภัณฑ์ จาก 25 บริษัท ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์แล้ว และขณะนี้มีอีกกว่า 50 บริษัท/องค์กร ที่สนใจจะประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ และขอรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ไนลอน ถุงยางอนามัย กระเบื้อง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บรรจุภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละบริษัท/องค์กรก็มีเหตุผลความจำเป็นที่แตกต่างกัน เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น ส่งสินค้าไปยังประเทสคู่ค้าทั่วโลกได้ตามเงื่อนไขต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 2024371 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ