ยานยนต์ไทย มาตรฐานอียู

ข่าวยานยนต์ Tuesday November 2, 2010 12:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าของโลกได้ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยายยนต์เป็นอันดับที่ 14 ของโลก สร้างรายได้จากการส่งออกแล้วยังก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในด้านของการจ้างงาน รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2552 อุตสาหกรรมยานยนต์ มียอดผลิตรถยนต์สูงถึง 999,378 คัน จำหน่ายในประเทศ 548,871 คัน ส่งออก 535,563 คัน ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2553 สามารถผลิตได้แล้วทั้งสิ้น 1,055,896 คัน จำหน่ายในประเทศ 488,088 คัน ส่งออก 583,533 คัน โดยคาดว่าทั้งปีจะสามารถผลิตได้ 1,600,000 คัน เพิ่มขึ้น 60.10% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยจำหน่ายในประเทศ 700,000 คัน ส่งออก 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 27.53% และ 68.05% ตามลำดับ ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นเครื่องยืนยันความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย อย่างไรก็ตาม แม้จะดูว่าแข็งแกร่งเพียงไร แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็กำลังเผชิญกับมาตรการใหม่ๆของประเทศคู่ค้าได้เช่นกัน โดยเฉพาสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งกลุ่มที่ได้รับหางเลขเต็มๆคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่มีไม่น้อยกว่า 2,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เหล็ก พลาสติก ยาง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระจก หนัง ผ้า การบริการด้านกระจายสินค้า บริการด้านการเงิน บริการด้านการตรวจสอบและทดสอบ บริการด้านการซ่อมบำรุง เป็นต้น จึงนับได้ว่า หากประเทศไทยขาดขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ ตลอดรวมถึงการจ้างงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความต้องการในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โครงสร้างพื้นฐานหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเตรียมความพร้อม และพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบข้างต้นก็คือ ห้องปฏิบัติการทดสอบ แต่เนื่องจากในปัจจุบันห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดทางด้านเครื่องมือทำให้ไม่สามารถให้บริการทดสอบปริมาณสารต้องห้าม/สารปนเปื้อนตามกฎระเบียบ RoHS และELVS รวมถึง VOCs ได้อย่างเพียงพอ จึงทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องใช้บริการของห้องปฏิบัติการทดสอบในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและการสิ้นเปลืองเวลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงห้องปฏิบัติการทดสอบในเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ สถาบันยานยนต์ ด้วยการจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อเป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในการให้บริการทดสอบสารต้องห้าม/สารปนเปื้อนตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า เป็นการลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากส่งชิ้นส่วนหรือสินค้าไปทดสอบยังต่างประเทศและยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ การเล็งเห็นถึงปัจจัยที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างให้เกิดการสะสมองค์ความรู้ด้านการทดสอบเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ในประเทศให้เพิ่มขึ้นในอนาคต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 202 4371 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ