กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
วช.มุ่งวิจัยปาล์มน้ำมัน เน้นเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สามารถนำไปใช้ได้จริง ตามนโยบาย “ต่อยอดทอดสะพาน” พร้อมขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ เลขาธิการ วช. เผย การวิจัยยึดรูปแบบจากศูนย์พลังงานชีวมวล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหารูปแบบการสกัดน้ำมันแบบเดิม ซึ่งนอกจากลงทุนสูง ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะและน้ำเสียที่ออกจากโรงงาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการปลูกปาล์มน้ำมันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพื้นที่แถบภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความเหมาะสม และที่ผ่านมานั้นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ วิธีการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งภาครัฐได้ส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในบ้านเราเติบโต และจากการที่พืชดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ทางสภาอุตสาหกรรมได้ตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆประมาณ 20 กลุ่ม ซึ่งล่าสุดคือกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มและสิ่งแปรรูปจากน้ำมันปาล์ม
ในส่วนของ วช. ที่เข้ามารับผิดชอบดูแลส่งเสริม เนื่องจากแนวทางการผลิตน้ำมันปาล์มเดิมทีเพื่อการบริโภคเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งช่วงระยะหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคเริ่มหันไปให้ความสนใจน้ำมันถั่วเหลือง ส่งผลให้พืชดังกล่าวมีราคาถูก และมีพื้นที่ปลูกลดน้อยถอยลง กระทั่งพืชจีเอมโอเข้ามามีบทบาท กลุ่มผู้บริโภคจึงหันมาให้ความสนใจอีกครั้ง ประกอบกับพลังงานเริ่มมีปัญหา ทางเลือกหนึ่งก็คือ “พลังงานไบโอดีเซล” จึงทำให้หลายคนวิตกความพอดีในด้านของพืชอาหารและพืชพลังงาน นอกจากการพัฒนาพันธุ์ ยังมุ่งพัฒนาวิธีการ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว(Postharvest) โดยเฉพาะการส่งผลผลิตเข้าสู่โรงงานหีบน้ำมัน ที่เดิมจะเป็นรูปแบบการใช้ “ไอน้ำ” ซึ่งระบบดังกล่าวลงทุนสูง ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะและน้ำเสียที่ออกจากโรงงาน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา ดร.กนก คติการ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะจึงทำโครงการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์เชิงนโยบายในการผลิตพืชพลังงาน พืชอุตสาหกรรมและพืชอาหารสัตว์ในประเทศไทย” ขึ้น ในปี 2550 โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“การให้ทุนวิจัยจะเป็นไปในรูปแบบ ตั้งรับ ซึ่งแล้วแต่ผู้ที่สนใจสามารถทำเรื่องขอทุนวิจัยกับทาง วช. ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มพืชที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งขณะนี้มีอยู่หลายชนิดอาทิ สบู่ดำ เหล่านี้ก็เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง ตามนโยบาย ต่อยอดทอดสะพาน และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งการส่งเสริมสนับสนุนนั้นไม่สามารถมุ่งเป้าจำเพาะได้ เพราะมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการอย่างด้านการพัฒนาพันธุ์ ที่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง” ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพรกล่าว
สำหรับแนวทางการวิจัย เลขาธิการคณะกรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่า จะมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการกลั่น ซึ่งยึดรูปแบบมาจากศูนย์พลังงานชีวมวล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พัฒนาเทคนิคการแปรรูปน้ำมันปาล์มโดย “ไม่ใช้ไอน้ำ” ช่วยทำให้ต้นทุนลดลง อยู่ร่วมกับชุมชน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม สามารถพัฒนาปรับ ขยายโรงงานได้ตามสภาพพื้นที่ออกนอกเขตเกษตรเศรษฐกิจได้ พร้อมทั้งนำมาเปรียบเทียบกับโรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มแบบใช้ไอน้ำ
ทั้งนี้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นด้วยระบบใหม่นั้น แม้คุณภาพเท่าเดิม ค่าความสดในน้ำมันดิบที่ได้ตรงตามมาตรฐาน ไม่มีสิ่งปนเปื้อน แต่ด้านประสิทธิภาพปริมาณจะดีกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วน “กากปาล์ม” ที่ได้หลังนำไปผ่านขบวนต่างๆพบว่าสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ย รวมทั้งทำเส้นใยไฟเบอร์ ซึ่งการวิจัยดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกได้รับประโยชน์สูงสุด มากกว่าการส่งขายในรูปของวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามการวิจัยดังกล่าวทีมงานได้ขยายผล ดำเนินการทดสอบที่บริษัทเกษตรสิทธี จำกัด จังหวัดกระบี่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 579 9775 ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)