ทันตแพทย์ ม.อ. ทดลองผสมแบคทีเรียสายพันธุ์ต้านฟันผุในนมผง-โยเกิร์ตหวังลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพฟันในเด็ก

ข่าวทั่วไป Tuesday November 2, 2010 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. พบแบคทีเรียในช่องปากสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 สามารถต้านการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของฟันผุได้ดี และยึดเกาะเยื่อบุในช่องปากได้นานกว่าสายพันธุ์อื่น เผยทดลองนำไปผสมในนมผง-โยเกิร์ต เพื่อแก้ปัญหาทันตสุขภาพในเด็ก รองศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล ผู้อำนวยการสถานวิจัยโรคที่พบบ่อยในช่องปากและวิทยาการระบาด คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากการเข้าไปศึกษาความชุกของฟันผุในเด็ก ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พบว่า มีเด็กจำนวนประมาณ 15% ที่ฟันไม่ผุ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมเดียวกัน โดยพบว่า เกิดจากมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่อาจช่วยป้องกันเชื้อที่เป็นสาเหตุของฟันผุ จึงได้นำมาศึกษาในห้องทดลอง และพบว่ามีเชื้อ Lactobacillus paracasei สายพันธุ์หนึ่งในหลายสายพันธุ์ ที่เหมาะสมในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ได้มาจากช่องปาก และมีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ จึงได้ตั้งชื่อว่า Lactobacillus paracasei SD1 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทุนนักวิจัยแกนนำของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อทำการวิจัยเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 เพื่อป้องกันฟันผุ” ซึ่งเป็นโครงการย่อยหนึ่งในโครงการ “ระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้” โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยโครงการนี้เชื่อมโยงกับ โครงการพัฒนาโพรไบโอติกสายพันธุ์พิเศษเสริมในโยเกิร์ตและนมผงเพื่อป้องกันฟันผุ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการใหญ่ เรื่องการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเสริมโพรโบโอติกและพรีไบโอติก ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำหรับคณะผู้วิจัยประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล อาจารย์ ทพญ.สุพัชรินทร์ พิวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.สุกัญญา เธียรวิวัฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และ ดร.สันทัด วิเชียรโชติ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “โดยทั่วไปได้มีการนำเชื้อแบคทีเรียมาใช้เป็น ‘โพรไบโอติก’ ซึ่งหมายถึงการนำจุลชีพหนึ่งๆ มาใช้เพื่อประโยชน์ในการเสริมสุขภาพและป้องกันจุลชีพก่อโรคอื่นๆ ซึ่งแบคทีเรียที่ถูกนำมาใช้เป็นโพรไบโอติกมีหลายชนิด แต่ Lactobacillus เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด และ Lactobacillus บางสายพันธุ์ที่ถูกนำมาใช้ในเชิงการค้า เช่น ถูกนำมาเตรียมในรูปของโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว เพื่อช่วยป้องกันเชื้อที่ก่อโรคในทางเดินอาหารและช่วยย่อย และมีงานวิจัยรายงานการประยุกต์ใช้เชื้อเหล่านี้เพื่อเสริมสุขภาพในช่องปาก ได้แก่ การนำมาใช้ป้องกันโรคฟันผุ โรคปริทันต์ เชื้อราในช่องปาก หรือช่วยระงับกลิ่นปาก และพบว่าเชื้อบางชนิดดังกล่าวสามารถลดเชื้อก่อโรคฟันผุได้” รองศาสตราจารย์ ดร.รวี กล่าว อย่างไรก็ตาม เชื้อเหล่านั้นสามารถเกาะติดในช่องปากได้เพียงชั่วคราว เนื่องจากไม่ใช่เชื้อที่มีแหล่งกำเนิดจากช่องปาก ความสามารถในการยึดเกาะเยื่อบุในช่องปากจึงไม่ดี ส่วนสายพันธุ์ที่คณะวิจัยได้ค้นพบ คือ Lactobacillus paracasei SD1 นั้น เป็นเชื้อที่ได้จากช่องปากจึงมีคุณสมบัติที่ยึดเกาะเยื่อบุในช่องปากได้ดีกว่า ซึ่งล่าสุดได้มีการนำไปยื่นคำขอจดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่คุณสมบัติอื่นๆ ของ Lactobacillus paracasei SD1 นอกจากสามารถเกาะติดเยื่อบุผิวในช่องปากได้ดี ยังมีความสามารถสูงในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุ และสร้างกรดได้น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ยับยั้งเชื้อฟันผุอื่น ๆ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการสูญเสียแร่ธาตุจากฟัน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่อาจได้รับจากเชื้อ Lactobacillus โดยผู้ศึกษาวิจัยได้ทดลองผสม Lactobacillus paracasei SD1 ในนมผงและโยเกิร์ต โดยในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องมี Lactobacillus ชนิดนี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัวใน 1 ซีซี จึงจะถือว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการใช้เป็นโพรไบโอติก ซึ่งจากการทดลองนำไปใช้กับอาสาสมัครที่เป็นกลุ่มนักเรียนอายุระหว่าง 12-14 ปี จำนวน 50 คน โดยให้ดื่มนมผสม Lactobacillus paracasei SD1 วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน และจะประเมินผลในการป้องกันฟันผุว่าเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กทั่วไป ผู้อำนวยการสถานวิจัยโรคที่พบบ่อยในช่องปากและวิทยาการระบาด คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวย้ำว่า แม้การทดลองจะประสบความสำเร็จ และมีการนำ Lactobacillus ไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อลดเชื้อก่อโรคฟันผุ แต่ก็เป็นเพียงการลดสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฟันผุเท่านั้น เนื่องจากฟันผุมีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากความแตกต่างของโครงสร้างฟันในแต่ละคน การขาดสารอาหารในวันเด็กซึ่งมีผลต่อโครงสร้างฟัน และการดูแลสุขภาวะช่องปาก ดังนั้น หากต้องการลดปริมาณของเชื้อก่อโรคฟันผุ ควรควบคุมอาหารหวานและดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ