iTAP ชูผู้เชี่ยวชาญ “เซรามิกส์ชั้นสูง” หนุนอุตสาหกรรมไทย ต่อยอดงานนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday November 2, 2010 15:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สวทช. iTAP ชู ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกส์ทำงานต่อเนื่องใน 3 กลุ่มประเภทเซรามิกส์ อาทิ ทำงานวิจัยและพัฒนาเซรามิกส์ชั้นสูง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในแผงวงจรไฟฟ้า , กลุ่มเซรามิกส์ในงานก่อสร้าง ทำคอนกรีตที่มีความเป็นฉนวนสูงเพื่อช่วยลดความร้อนในบ้าน และกลุ่มเซรามิกส์พื้นฐาน ช่วยสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ฯลฯ รวมทำงานร่วมกับ iTAP กว่า 10 โครงการ หวังช่วยอุตสาหกรรมเซรามิกส์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทย แก้ปัญหาตรงจุด พร้อมผลักดันงานนวัตกรรมต่อเนื่อง คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า“เซรามิกส์”ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนหรืองานก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้วเซรามิกส์เป็นวัสดุที่อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึงว่ามี“เซรามิกส์”ซ่อนอยู่และยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร.พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล นักวิจัยห้องปฎิบัติการเซรามิกส์ประยุกต์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค สวทช.) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสหากรรมไทย หรือ iTAP ผู้คลุกคลีอยู่กับวงการเซรามิกส์มาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีโดยเป็นนักเรียนทุนระดับปริญญาตรี ภาควิชาวัสดุศาสตร์ สาขาเซรามิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) และจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมลรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania State University) จากสาขาเดียวกัน คือ วัสดุศาสตร์ (Material Science and Engineering) จากนั้นได้สานต่อการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านเซรามิกส์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาแก่บริษัทเอกชนต่างๆ เพื่อนำวัสดุอย่างเซรามิกส์มาสานต่อการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่วงการอุตสาหกรรมไทย ดร.พิทักษ์ กล่าวว่า เซรามิกส์เป็นวัสดุที่มีความสำคัญทั้งในชีวิตประจำวันและอุตสาหกรรมต่างๆ หากจะแบ่งเซรามิกส์เป็นประเภทต่างๆนั้นจะได้ 3 กลุ่มคร่าวๆ คือ กลุ่มเซรามิกส์พื้นฐาน ซึ่งเป็นเซรามิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมครัวเรือนอย่างจาน ชาม ภาชนะต่างๆ และมองว่าอุตสาหรรมนี้ในบ้านเรายังไปได้อีกไกล เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านฝีมือ แรงงาน และการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ กลุ่มเซรามิกส์วัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ คอนกรีต ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีตลาดค่อนข้างกว้าง และอุตสาหกรรมบ้านเรายังมีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนวัตถุดิบราคาถูกกว่าต่างประเทศ อีกทั้งกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจ กลุ่มเซรามิกส์วัสดุก่อสร้างจึงเริ่มมีการทำนวัตกรรมเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันจึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาเซรามิกส์กลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ยังมี กลุ่มเซรามิกส์ชั้นสูง(Advanced Ceramics)ซึ่งส่วนมากเป็นชิ้นส่วนเซรามิกส์ขนาดเล็กที่อยู่ภายในแผงวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา ฯลฯ ดร.พิทักษ์ อธิบายว่า “เซรามิกส์ชั้นสูง คือ เซรามิกที่มีการควบคุมทั้งวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและคุณสมบัติของวัสดุ ส่วนใหญ่จะควบคุมลงไปในรายละเอียดค่อนข้างมาก เช่น ส่วนผสมต้องมีความบริสุทธิ์เกินกว่า 99% ซึ่งหากเป็นเซรามิกส์ทั่วไปอาจไม่มีการควบคุมขนาดนี้ นอกจากนำไปใช้ในงานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เซรามิกส์ชั้นสูงยังมีการใช้งานด้านทางกลอีกด้วย เช่น การทำให้เซรามิกส์มีความแข็งแรงและฉนวนป้องกันความร้อนสูง ทำให้เหมาะต่อการนำไปใช้เป็นวัสดุป้องกันความร้อนในเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น งานผลิตกระสวยอวกาศขององค์การนาซ่า” สำหรับอุตสาหกรรมในบ้านเราที่มีการใช้เซรามิกส์ชั้นสูงนั้น ส่วนใหญ่เป็นการทำงานในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น การประกอบแผงวงจรไฟฟ้า แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นการผลิตงานตามแบบที่อุตสาหกรรมต้องการเท่านั้น “เราผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และส่งไปต่างประเทศ เขาก็นำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อส่งสินค้ากลับมาขายให้เราอีกครั้ง จะเห็นได้ว่างานวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมในบ้านเรายังมีน้อย” สำหรับผลงานวิจัยและพัฒนาด้านเซรามิกส์ชั้นสูงของ ดร.พิทักษ์ ที่ผ่านมานั้น อาทิ “หม้อแปลงไฟฟ้าเซรามิกส์” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้ทดแทนหม้อแปลงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมที่เป็นขดลวด จุดเด่นของอุปกรณ์ชนิดนี้ คือ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ทนต่อกำลังไฟฟ้าที่สูง ไม่เกิดความร้อนขณะใช้งาน ทำให้ลดการสูญเสียพลังงานและประหยัดไฟ นอกจากนี้ ดร.พิทักษ์ ยังสานต่อการทำงานเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะบทบาทของการเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาในโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)ดร.พิทักษ์ กล่าวว่า การเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญ iTAP ในงานที่เกี่ยวข้องกับเซรามิกส์นั้น เนื่องจากเราอยู่ในองค์กรที่ถือว่ามีความพร้อมในการแสวงหาข้อมูลและอุปกรณ์สำหรับการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้กับภาคเอกชน นอกจากนี้การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมยังสามารถเปิดโลกทรรศน์และสามารถต่อยอดงานวิจัยออกไปอย่างต่อเนื่อง “ยกตัวอย่างเช่น มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเริ่มต้นจากการเข้ามาปรึกษา เพื่อให้ช่วยหามาตรฐานของการวิเคราะห์คุณสมบัติคอนกรีตที่มีความเป็นฉนวนสูงรองรับกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เมื่อได้เข้าไปให้คำปรึกษาจึงทำให้เกิดงานอย่างต่อเนื่องมากมาย เช่นโครงการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรการผลิต รวมถึงกระบวนการผลิตให้เร็วขึ้น” โดยผ่านมา ดร.พิทักษ์ ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ iTAP มาแล้วกว่า 10 โครงการและให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “การเข้าร่วมงานกับ iTAP นั้นรู้สึกพอใจในทุกโครงการ และดีใจที่ภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มมองเห็นผลดีของการมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง สังเกตว่าเราซื้อ Know-How จากต่างประเทศเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ การทำงาน R&D บ้านเรายังมีน้อย เมื่อ iTAP เข้ามามีส่วนสนับสนุน บริษัทจึงไม่ต้องลงทุน 100% อีกทั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์หลายอย่างต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง หากมีภาครัฐมาช่วยครึ่งหนึ่งเอกชนจะมีความเชื่อมั่น รวมทั้งการมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำแนวทางการทำงาน ช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และมีเครื่องมือหรือห้องวิจัยของสวทช.เข้ามาสนับสนุนการทำงาน ยิ่งทำให้ภาคเอกชนตื่นตัวที่จะทำนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และส่วนตนก็รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยพัฒนางานในอุตสาหกรรมนี้” อนาคตการทำงานของ ดร.พิทักษ์ ยังวางแผนในการเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงงานเซรามิกส์พื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและมีศักยภาพในการส่งออกเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับวงการอุตสาหกรรมเซรามิกส์อย่างต่อเนื่อง “สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิกส์พื้นฐานนั้นไม่ว่าจะเป็นเนื้อดิน สูตรเคลือบต่างๆภาคเอกชนมีประสบการณ์ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นต่อรุ่นอยู่แล้ว แต่ยังขาดเรื่อง“มาตรฐาน” เนื่องจากหากทำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ มาตรฐานต่างๆมีความสำคัญมาก อนาคตจึงวางแผนทำงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะยังทำงานในเซรามิกส์ประเภทวัสดุก่อสร้างและเซรามิกส์ชั้นสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ