บีโอไอกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จูงใจโรงงานทั่วประเทศให้ไปขยายการลงทุนใน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ข่าวทั่วไป Friday June 15, 2007 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยจูงใจให้กิจการเดิมไม่ว่าจะตั้งอยู่ในจังหวัดใด หากไปขยายการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการเดิมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโครงการใน 3 จังหวัด ส่วนโครงการที่ลงทุนใน 3 จังหวัดก็จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ไม่จำกัดวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นด้วย
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม ที่ต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการที่มีกิจการเดิมอยู่แล้ว ทั้งในและนอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะได้รับส่งเสริมหรือไม่ก็ตาม เข้าไปลงทุนขยายกิจการเพิ่มในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกิจการเดิมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสัดส่วนเงินลงทุนที่ลงทุนใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการใหม่ที่ลงทุนใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีเช่นกัน ทั้งนี้จะต้องเป็นโครงการที่มีผู้ถือหุ้นรายเดิมทั้งหมด เช่น กิจการของนาย ก. นาย ข. และนาย ค. ผลิตสิ่งทอในภาคกลาง แต่ได้เข้าไปขยายการลงทุนในจังหวัด ปัตตานี หรือยะลา หรือนราธิวาส เป็นเงินลงทุน 100 ล้านบาท โดยมีนาย ก. นาย ข. และนาย ค. เป็นผู้ถือหุ้น กิจการสิ่งทอเดิมก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีก 100 ล้านบาทด้วย
ในระยะเวลา 3 ปีของการประกอบการ ซึ่งเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุน ทั้งนี้ จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552
สำหรับโครงการขยายลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงินภาษี รวมทั้งได้รับยกเว้นยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
ช่วงระหว่างปี 2546 — 2549 มีผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น 8 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 2,418 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดปัตตานี 3 ราย ยะลา 2 ราย และนราธิวาส 1 ราย โดยมีการเปิดดำเนินการแล้ว 4 ราย อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน 1 ราย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ