กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สสว.
สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนกันยายน ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 49.3 โดยมีกิจการกลุ่มค้าส่งสินค้าเกษตร ค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบริการขนส่งสินค้า ครองแชมป์ค่าดัชนีลดลงมากสุด ผลจากเข้าสู่ฤดูฝน ปัญหาน้ำท่วม และสถานการณ์ทางการเมือง ที่เป็นอุปสรรคและฉุดความเชื่อมั่น ขณะที่ไตรมาส 3/2553 ค่าดัชนีเพิ่มทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ ปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกดีขึ้น การส่งออกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกันยายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2553 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 49.3 จากระดับ 49.7 (ลดลง 0.4) โดยภาคการค้าส่ง และภาคการค้าปลีก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 46.6 และ 49.5 จากระดับ 48.5 และ 50.4 (ลดลง 1.9 และ 0.9) ตามลำดับ ส่วนภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 49.8 จากระดับ 49.2 (เพิ่มขึ้น 0.6) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 53.8 และ 45.9 จากระดับ 54.1 และ 48.2 (ลดลง 0.3 และ 2.3) ตามลำดับ
“สาเหตุสำคัญที่ทำให้เดือนกันยายน 2553 ค่าดัชนีปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบทั้งปริมาณผลผลิตการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง สินค้ามีราคาสูง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประกอบธุรกิจทั้งด้านการขนส่งสินค้า ที่ต้องเจอปัญหายอดขายสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัว การขนส่งสินค้าเข้าถึงพื้นที่ทำได้ลำบาก ส่งผลให้มียอดการใช้บริการขนส่งสินค้าลดลง รวมถึงการค้ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่มียอดขายลดลง นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นปัจจัยลบสำคัญ เพราะมีการก่อเหตุระเบิดในหลายพื้นที่ และหลายฝ่ายมองว่าอาจจะมีสถานการรุนแรงเกิดขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว
เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 46.2 จากระดับ 53.1 (ลดลง 6.9) ภาคการค้าปลีก กิจการค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 49.5 จากระดับ 51.4 (ลดลง 1.9) ส่วนภาคบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พบว่า บริการด้านขนส่งมวลชน มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 55.8 จากระดับ 51.1 (เพิ่มขึ้น 4.7) ส่วนธุรกิจที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด คือ กิจการด้านการขนส่งสินค้า มีค่าดัชนีอยู่ที่ 49.6 จากระดับ 52.1 (ลดลง 2.5)
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.1 จากระดับ 54.0 (เพิ่มขึ้น 1.1) โดยภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.0 และ 57.1 จากระดับ 53.9 และ 54.4 (เพิ่มขึ้น 0.1 และ 2.7) ขณะที่ภาคการค้าส่ง ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 52.7 จากระดับ 53.2 (ลดลง 0.5) ในส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 64.5 และ 60.7 จากระดับ 62.2 และ 57.3 (เพิ่มขึ้น 2.3 และ 3.4)
สำหรับผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนกันยายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2553 พบว่า ภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 48.5 จากระดับ 50.6 (ลดลง 2.1) รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.5 จากระดับ 45.6 (ลดลง 1.1) ภาคเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 49.4 จากระดับ 49.8 (ลดลง 0.4) และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 55.5 จากระดับ 55.6 (ลดลง 0.1) ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคเดียวที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 51.0 จากระดับ 49.0 (เพิ่มขึ้น 2.0)
ผอ.สสว. เปิดเผยต่อถึงดัชนี TSSI SMEs ประจำไตรมาส 3/2553 ว่า จากการเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2553 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.4 จากระดับ 45.9 (เพิ่มขึ้น 3.5) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดย ภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.0 49.7 และ 49.8 จากระดับ 43.4 47.0 และ 45.5 (เพิ่มขึ้น 3.6 2.7 และ 4.3) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.1 47.3 จากระดับ 32.0 และ 39.8 (เพิ่มขึ้น 22.1 และ 7.5) นอกจากนี้การคาดการณ์ไตรมาสหน้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.9 จากระดับ 49.7 (เพิ่มขึ้น 4.2) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจเช่นกัน
“จากการที่ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า และไตรมาสหน้า อยู่ในระดับเกินกว่า 50 สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในอนาคตดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และคู่ค้าในต่างประเทศฟื้นตัวดีขึ้น การส่งออกขายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง มีเม็ดเงินจากโครงการไทยเข้มแข็งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายในทางที่ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับที่ดี และบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น นักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น” ผอ. สสว. กล่าว