กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยถึงการสนับสนุนโครงการวิจัยที่ต้องการศึกษาการบริหารทรัพยากรน้ำ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากบางปีก็เกิดปัญหาภัยแล้ง และในทางตรงกันข้ามจังหวัดที่อยู่ในพื้นลุ่ม ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเกิดความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่นับวันจะมีทวีรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัย แก่นายสุริยา คำหว่านและคณะ จากมหาวิทยาลัยนครพนม ทำการศึกษาเรื่อง “การศึกษาการบริหารทรัพยากรน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษาลุ่มน้ำก่ำตอนล่าง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม”
ผู้วิจัยได้เห็นความสำคัญของศักยภาพแหล่งน้ำในลุ่มน้ำก่ำ เนื่องจากเป็นต้นน้ำที่มีจุดกำเนิดจากเทือกเขาภูพาน ในเขตจังหวัดสกลนคร ไหลไปบรรจบลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทำให้มีหลายชุมชนจากทั้ง 2 จังหวัดนี้ได้รับประโยชน์ การศึกษาครั้งนี้เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางและรูปแบบการจัดการน้ำในลุ่มน้ำก่ำที่เหมาะสม
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการประกอบอาชีพทำนา และใช้แหล่งน้ำจากลำน้ำก่ำเป็นหลักเพื่อทำการเกษตร พฤติกรรมด้านการป้องกันการสูญเสียน้ำของการใช้น้ำ คือ การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์และเท่าที่จำเป็น ในส่วนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนครและนครพนม และองค์การบริหารส่วนตำบลฝั่งแดง ฝ่ายปฏิบัติการสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าที่ 1 จังหวัดนครพนม นอกจากนี้ยังพบว่ามีการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนในรูปแบบของการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำตำบลน้ำก่ำและกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรตำบลฝั่งแดง
ผู้วิจัยพบปัญหาของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำก่ำ คือ การไม่มีส่วนร่วมตรวจสอบติดตามและประเมินผลการจัดสรรน้ำ การไม่ได้รับแจ้งข่าวสารและการไม่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของชุมชน ทำให้ไม่มีการจัดสรรน้ำ การบำรุงรักษา การบริหารงาน การเสริมสร้างทักษะและความรู้ รวมถึงปัญหาด้านงบประมาณรวมอยู่ด้วย ซึ่งคณะผู้วิจัยร่วมกับภาครัฐและชุมชนได้พูดคุยหาแนวทางบริหารน้ำสรุปได้ว่า ชุมชนต้องมีการสร้างความเข้าใจและการจัดทำข้อตกลงในการมีส่วนร่วม การจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน การจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม การจัดตั้งกองทุนกลุ่มผู้ใช้น้ำ การจ้างเหมางานบำรุงแก่กลุ่มผู้ใช้น้ำ การมีส่วนร่วมในการส่งน้ำบำรุงรักษา การประเมินความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ การจัดทำฐานข้อมูลพื้นฐานขององค์การ เพื่อทำให้เกิดรูปแบบทางการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนอีกต่อไป