ขออนุญาตก่อสร้างกับกทม. จะคล่องตัวมากขึ้นด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุม

ข่าวทั่วไป Wednesday November 3, 2010 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. จะเผยแพร่ข้อมูล รายละเอียด ระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวทางการขออนุญาตก่อสร้างอาคารในพื้นที่ให้กว้างขวางมากขึ้น ใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการดาวน์โหลดข้อมูล แบบฟอร์ม พร้อมรายละเอียดการตอบคำถามจากผู้ประกอบการ รูปแบบการขออนุญาต ตัวอย่างกรณีที่มีปัญหาในการขออนุญาต พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาการปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนการขออนุญาตให้คล่องตัวมากขึ้น นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมเรื่องการปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยมี นายชาตินัย เนาวภูต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา สำนักผังเมือง ประธานกลุ่มเขต 6 กลุ่ม ผู้แทนสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมรับสร้างบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมสถาปนิกสยาม ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม นายพรเทพ กล่าวภายหลังประชุมว่า จากการหารือกันถึงปัญหาการขออนุญาตก่อสร้างอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ สรุปความเห็นร่วมกันว่า สิ่งที่ต้องลงมือทำโดยเร็ว คือ การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคารให้มีความชัดเจนทั้งเอกสารที่ต้องยื่นเพื่อประกอบการพิจารณา ขนาดของที่ดินและความกว้างของทางสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันกทม. มีการรับรองเขตถนนเป็นทางสาธารณะ จำนวน 200 สาย จากที่มีมากกว่า 5,000 สาย โดยส่วนใหญ่ได้สถานะถนนจากการใช้งานหรือจากการบริจาค แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดที่ดิน จึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนั้นยังส่งข้อมูลลงในระบบการค้นหาข้อมูลอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการตอบคำถามจากผู้ประกอบการ รูปแบบการขออนุญาต ตัวอย่างกรณีที่มีปัญหาในการขออนุญาต แบบฟอร์มที่สามารถดาวน์โหลดได้ นอกจากนี้จะให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่กทม. ด้วยการอบรมอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนยังขยายการอบรมไปยังสมาคม หรือผู้ประกอบการก่อสร้างอาคารด้วย เพื่อให้สามารถยื่นแบบและดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า กทม. จะตั้งคณะกรรมการร่วมโดยมีผู้แทนกรมโยธาฯ ผู้แทนสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อพิจารณาการปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งมีแนวทาง การพิจารณาแบบก่อสร้างโดยให้วิศวกรจากสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทยและสภาวิศวกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรับรองแบบก่อนที่กทม. จะพิจารณาด้านพื้นที่ก่อสร้าง เขตถนน และรายละเอียดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่ทั้งนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้กฎกระทรวงก่อน ทั้งนี้แบบก่อสร้างที่จะขออนุญาตจะลดการใช้พิมพ์เขียวด้วยการพิจารณาด้วยแฟ้มระบบดิจิตอลแทน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ