สวทช. จับคู่ธุรกิจไทย-แคนาดา เพิ่มศักยภาพการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรไทย

ข่าวเทคโนโลยี Monday July 2, 2007 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สวทช.
โครงการ iTAPภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สวทช. สนับสนุนภาคเอกชนไทย เพิ่มช่องการตลาดขยายโอกาสทางธุรกิจ จับมือพันธมิตรนอก IRAP จัด ‘กิจกรรมจับคู่ธุรกิจเทคโนโลยี ’ ดึงผู้ประกอบการแคนาดาหาพาร์ทเนอร์ภาคเอกชนไทย ร่วมทุนผลิตปุ๋ยอินทรีย์รูปแบบใหม่ และการยืดอายุผัก ผลไม้ และดอกไม้สด ด้วยเทคโนโลยี MAP ในประเทศ ชี้ เหตุเล็งไทยเพราะมีศักยภาพสูงในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ (Organic Products) หวังเพิ่มมูลค่าและยกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดส่งออกด้วยเทคโนโลยี
Business Matching นอกจากเป็นกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า หรือ การตลาดโดยตรงระหว่างภาคเอกชนแล้ว ยังมีกิจกรรมการจับคู่อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า “กิจกรรมจับคู่ธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี ” เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับประเทศ เพื่อเป็นการขยายโอกาสธุรกิจใหม่ให้กับภาคเอกชน อาทิ กิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริการหนึ่งของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แก่ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) กล่าวว่า กิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจเทคโนโลยีเป็นกลไกหนึ่งในการทำงานของ iTAP ที่ให้บริการมานานนอกจากการจัดกิจกรรมการเสาะหาเทคโนโลยีในต่างประเทศ การให้บริการที่ปรึกษา และเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่เข้ารับการช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจากโครงการ iTAP
ล่าสุดได้จัดให้มีการพบปะกันระหว่างบริษัท Canadian Real-Organic Products Inc. (CROP) ผู้ผลิตและเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีปุ๋ยอินทรีย์รูปแบบใหม่ และบริษัท Freshetend Technologies Crop. ในฐานะผู้นำเทคโนโลยีการยืดอายุผัก ผลไม้ และดอกไม้สด ด้วยเทคโนโลยี MAP จากประเทศแคนาดา กับภาคเอกชนของไทย ซึ่งรับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิตสินค้าเกษตรและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเข้าร่วมงานกว่า 20 บริษัท โดยงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย iTAP (สวทช.) กับ Industrial Research Assistance Program (IRAP) National Research Council (NRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านการวิจัยและพัฒนาที่ให้การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศแคนาดาในลักษณะเดียวกันกับ iTAP ของไทย
ผอ.โครงการ iTAP กล่าวว่า “กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจดังกล่าวเป็นบริการที่แตกต่างจากการจับคู่ธุรกิจทั่วไป ที่เน้นด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ใช่การเจรจาแค่ให้เกิดการซื้อขายผลิตภัณฑ์หรือตัวเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาทำการวิจัยและพัฒนา หรือ modify ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของไทยก่อนที่จะทำข้อตกลงทางธุรกิจ โดย iTAP จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และด้านข้อมูลเพื่อช่วยการตัดสินใจ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมกรณีหากภาคเอกชนต้องการที่ปรึกษาเชิงลึก ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับความสนใจจากบริษัท เอกยงวงศ์ จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และผู้ผลิตทางการเกษตรของไทยเข้าร่วมทำธุรกิจกับบริษัทจากแคนาดาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปทดลองใช้กับผลผลิตทางการเกษตรในแปลงเพาะปลูกที่จังหวัดราชบุรี อาทิ พริก , กระเจี๊ยบเขียว และ ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นต้น ซึ่งได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ถือเป็นกิจกรรมสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอีกรูปแบบหนึ่งที่นำเอกชนทั้ง 2 ฝ่ายมาพบกัน และรับฟังเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนที่จะทำธุรกิจร่วมกัน”
Mr.Lim Loong Keng ประธานกรรมการ CROP กล่าวว่า “ทางบริษัทฯ ต้องการหาพาร์ทเนอร์ที่จะทำธุรกิจดังกล่าวร่วมกับภาคเอกชนของไทย เนื่องจากมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการผลิตสินค้าทางการเกษตรในแถบเอเชีย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ หรือ Organic จึงมั่นใจว่าจากสภาพพื้นที่ และตัวเทคโนโลยีดังกล่าวจะมารองรับศักยภาพของไทยได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเห็นว่าขณะนี้ประเทศเวียดนามเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ดังนั้น การผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ หรือ Organic จึงเป็นทางเลือกที่จะยกระดับคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย ทำให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งได้”
สำหรับเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์รูปแบบใหม่ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากเปลือกกุ้งเปลือกปูแทนการใช้มูลสัตว์ เนื่องจากปัญหาการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้คนส่วนใหญ่หันมานิยมบริโภคสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบหรือสารเคมีที่ได้จากธรรมชาติมากขึ้น เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์รูปแบบใหม่นี้ เป็นการอาศัยเอนไซม์ ( Componemt C ) ช่วยกระตุ้นให้เชื้อจุลรินทรีย์ในดินทำงานเพื่อย่อยสลายเปลือกกุ้ง เปลือกปู ให้กลายเป็นปุ๋ยในดิน และนอกจากจะเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารกับพืชได้แล้ว ยังไปกระตุ้นให้พืชสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองจากศัตรูภายนอกได้ด้วย คล้ายกับกระบวนการสร้างวัคซีนเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในคน ถือเป็นเทคโนโลยีในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ปลอดภัยและปราศจากสารพิษ ซึ่งได้รับการรับรองการผลิตสำหรับใช้ในการผลิตพืชอินทรีย์ หรือ Organic ในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ ญี่ปุ่น
ขณะที่เทคโนโลยีการยืดอายุผัก ผลไม้ และดอกไม้สด ด้วยเทคโนโลยี MAP เป็นการพัฒนาฟิล์มที่มีคุณสมบัติในการควบคุมปริมาณของก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถ่ายเทระหว่างภายนอกและภายในกล่อง เพื่อการเก็บรักษาความสดของผักและผลไม้ให้ยาวนานขึ้น 3 — 4 สัปดาห์ ทำให้ช่วงระยะเวลาสำหรับการขนส่งและกระจายสินค้าได้นานขึ้น ที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายจากเดิมที่ต้องใช้การขนส่งทางอากาศซึ่งมีราคาสูงและยังขนสินค้าได้ปริมาณน้อย มาเป็นการขนส่งสินค้าทางเรือได้ในปริมาณที่มากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิต และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
โทร. 0-270-1350-4 ต่อ 115
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ