ชุมชนเมืองโร่ร้อง คกก.ปฏิรูป ถูกไล่รื้อไม่เป็นธรรม

ข่าวทั่วไป Thursday November 4, 2010 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--คกก. ชุมชนเมืองร้องต่อ คกก.ปฏิรูป ถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินไม่เป็นธรรม พบพิรุธโครงการส่อแววเอื้อประโยชน์เอกชน ขณะที่โครงการปรับภูมิทัศน์กลับล้างวิถีชุมชนที่มีมาช้านาน ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม, ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ และนายบัณฑร อ่อนดำ คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอ ประเด็นการไล่รื้อที่อยู่อาศัยในเขตชุมชนเมืองกรุงเทพมหานครตลอดทั้งวัน โดยเบื้องต้นพบปัญหาข้อพิพาทจากนโยบายการพัฒนาที่ดินของรัฐไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ต่อเนื่องไปสู่การขับไล่อย่างไม่เป็นธรรม จนส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและภาครัฐมาอย่างช้านาน ช่วงเช้าคณะอนุกรรมการที่ดินฯ เริ่มลงพื้นที่สำรวจชุมชนย่านกุฎีจีน วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี ซึ่งมีประมาณ 54 ครัวเรือนที่อยู่อาศัยมานานกว่า 100 ปี โดยชาวบ้านกล่าวถึงประเด็นถูกวัดดำเนินการไล่รื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งวัดอ้างว่าต้องการปรับปรุงพื้นที่และสร้างอุทยานการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามนโยบายของภาครัฐ จนนำไปสู่การทุบทำลายโบราณสถานที่มีอายุกว่าร้อยปี ในครั้งนั้นชาวบ้านได้รวมตัวกันต่อต้านการทุบทำลายโบราณสถานภายในวัดดังกล่าว พร้อมทั้งร้องเรียนไปยังกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องก็เงียบหายไป ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเร่งเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างการเชื่อมต่อการคมนาคมทั่วกรุงเทพมหานคร อาจกลายเป็นสาเหตุของความไม่ชอบมาพากลในครั้งนี้ จากนั้นคณะอนุกรรมการที่ดินฯ ลงสำรวจชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน-ชุมชนวัดบวรรังสี เขตพระนคร ซึ่งประสบปัญหาการไล่รื้อที่อาศัยจากโครงการพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยชาวบ้านราว 30 ครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนมัสยิดแห่งนี้อาจจะต้องไร้ที่อยู่อาศัยจากนโยบายสร้างถนนสายใหม่ เหลือเพียงวัดบวรรังสีและโรงเรียนสตรีวิทยาเท่านั้น เพื่อรองรับการจราจรที่หนาแน่นเมื่อการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกายเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันชุมชนแพร่งภูธร ถ.บำรุงเมือง เขตพระนคร ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประสบปัญหากับโครงการบูรณะอาคารเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร โดยบังคับให้ต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยนานกว่า 8 เดือน เพื่อการซ่อมแซมอาคารเก่าทั้งหมด 150 ห้อง ขณะที่แบบแปลนการบูรณะกลับใช้ต้นแบบที่ไม่สมดุลกับวิถีชุมชน จนอาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการทำมาหากินของชุมชน และไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนขั้นพื้นฐานในการมีส่วนร่วมพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของชุมชน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งดังกล่าว และพื้นที่สุดท้ายชุมชนแม้นศรี นาคบำรุง บริเวณหลังศูนย์การค้าวรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พบปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนในการเวนคืนที่ดินเพื่อขยายถนนสายหลักจาก 12 เมตรเป็น 30 เมตร ยืนยันแสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างขยายถนนเกินความจำเป็น และขัดแย้งกับวิถีชุมชนที่เป็นเสมือนแหล่งการค้าที่มีคนพลุกพล่านตลอดเวลามาช้านาน นายเอกชัย ลำเหลือ ตัวแทนชุมชนวรจักร กล่าวว่า “การขยายถนนทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่าง ถ.ดำรงค์รักษ์กับ ถ.บำรุงเมือง สายเชื่อมระหว่างสายดังกล่าวกับ ถ.จักรพรรดิ์พงษ์และตรอกโรงเลี้ยงเด็ก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดพื้นที่ คาดว่ามีประมาณ 30 หลังคาเรือนที่จะถูกเวนคืน” พร้อมยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่เคยได้มีการทำประชาพิจารณ์จากชุมชนแต่อย่างใด ซึ่งโครงการสร้างถนนอาจเป็นเพียงการเอื้อประโยชน์ให้กับย่านการค้าบางแห่งเท่านั้น ขณะที่ชาวชุมชนไม่ได้ต้องการแต่อย่างใด และอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนและแหล่งทำมาหากินอีกด้วย ในช่วงบ่าย คณะอนุกรรมการที่ดินฯได้เปิดเวทีรับฟังปัญหา ถอดบทเรียนและประสบการณ์การ กรณีความสำเร็จของการต่อสู้ข้อพิพาทที่ดินและที่อยู่อาศัยจากของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ณ บริเวณลานโพธิ์ ป้อมมหากาฬ เพื่อให้ทั้ง 5 ชุมชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาและหาแนวทางต่อสู้กับปัญหาความเดือดร้อน ตลอดจนผลกระทบที่ชุมชนได้รับจากโครงการพัฒนาที่ดินของรัฐ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยในภาพรวมร่วมกัน ด้าน ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานอนุกรรมการปฏิรูประบบการจัดการที่ดิน ฯ กล่าวว่า “ความสำคัญของการปฏิรูปคือการสร้างความเป็นธรรม เพื่อลบล้างความเหลี่อมล้ำ โดยสิ่งแรกในการที่เราจะสร้างความเป็นธรรมได้ คือต้องรู้ปัญหาของความไม่เป็นธรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบของพี่น้องประชาชนว่ามีอะไรบ้าง และจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปพร้อมหนทางการแก้ไขแล้ว เราก็จะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้” การกำหนดนโยบายพัฒนาชุมชนโดยวิธีแต่งตั้งตัวแทนเข้ามาตัดสินใจดำเนินการต่างๆย่อมกลับกลายเป็นปมขัดแย้งที่ละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างชุมชนและความเจริญ ในขณะที่วิธีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการมีส่วนร่วมกลับถูกมองข้าม แม้ว่าจะเป็นวิถีทางแห่งการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริงก็ตาม
แท็ก คกก.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ