กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ก.ไอซีที
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ครั้งที่ 8 (The 8th APEC Telecommunications and Industry Ministers Meetings: TELMIN 8) ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสมาชิกเอเปค ซึ่งจัดขึ้นประมาณ 2 - 3 ปี/ครั้ง โดยการประชุมครั้งที่ผ่านมาได้จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2551 และประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ส่วนการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2553 ที่เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรัฐมนตรีหรือผู้แทนจากทั้ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุม โดยมีนาย Yoshihiro Katayama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและสื่อสาร และนาย Tadahiro Matsushita รัฐมนตรีช่วยอาวุโส กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่ประธานร่วมของการประชุม
“การประชุมครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อต่างๆ เพื่อให้รัฐมนตรีจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ นำเสนอวิสัยทัศน์ ซึ่งในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากประเทศไทย ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนความเจริญในรูปแบบใหม่” หรือ Develop ICT to promote new growth โดยนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาบรอดแบนด์ในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย การจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย (ICT 2020) เพื่อนำไปสู่สังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand 2020) การจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์บรอดแบนด์ เพื่อพัฒนาบริการบรอดแบนด์ให้เป็นบริการขั้นพื้นฐานของประชาชน อย่างทั่วถึง เพียงพอ ในราคาที่เหมาะสมภายใต้การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม รวมถึงการนำเสนอโครงการนำร่องที่ใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โครงการด้านสาธารณสุข โครงการด้านการศึกษา การจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้เสนอเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการ บรอดแบนด์ต่อไป” นายจุติ กล่าว
ส่วนผลการประชุม TELMIN 8 ครั้งนี้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคฯ ได้รับรอง “ปฏิญญาโอกินาวา” (Okinawa Declaration) ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของไอซีทีในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับโลก รวมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ โดยที่ประชุมได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ของคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ (TEL’s Strategic Action Plan) ซึ่งเป็นแผนการดำเนินการในระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2010 - 2015) ที่ครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาไอซีทีเพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตในรูปแบบใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการให้บริการ บรอดแบนด์อย่างทั่วถึงภายในปี 2558 ตามปฏิญญากรุงเทพฯ การยกระดับกิจกรรมด้านสังคม - เศรษฐกิจโดยใช้ไอซีที การส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านไอซีทีที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือโดยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) โดยมีการกำหนด APEC Cybersecurity Awareness Day ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์ และเน้นย้ำการแลกเปลี่ยน
ข้อมูลระหว่างกันในเรื่อง Cybersecurity นอกจากนี้ แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวยังส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาไปสู่การเปิดตลาดระหว่างกัน รวมถึงการลดต้นทุนค่าเชื่อมต่อโทรศัพท์ระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอ “ปฏิญญาโอกินาวา” นี้ ต่อที่ประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 18 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากการเข้าร่วมการประชุม TELMIN 8 แล้ว ยังได้ร่วมหารือในระดับทวิภาคีกับนาย Yoshihiro Katayama รัฐมนตรีกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น ในประเด็นเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือด้านไอซีทีระหว่างสองฝ่าย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของ Disaster Recovery System การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และโอกาสในการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคมของสองฝ่าย เป็นต้น พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมนิทรรศการที่ประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้นสำหรับรัฐมนตรีและคณะผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้าและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ ระบบ ITS, Public Broadband Communication System, IPTV, Video transmitting using Microwave or Internet เป็นต้น ซึ่งงานนิทรรศการดังกล่าวยังมีการแสดงโปสเตอร์ของแต่ละเขตเศรษฐกิจเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ โดยประเทศไทยได้ส่งโปสเตอร์เข้าร่วมแสดงในงานนิทรรศการดังกล่าวด้วย”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT