กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
การดำเนินชีวิต และดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ถูกผสมผสานเข้าเป็นนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนหลายแห่งด้วยการพยายามหาวิธีการหลากหลายที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สำหรับเราๆ ท่านๆ ก็คงคุ้นชินกับการรณรงค์ให้ถือถุงผ้าออกไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก การเลือกใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าวิธีง่ายๆ อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยมือของเราด้วยวิธีการตามแนวทางกรีนมีทติ้งส์ คือการเลือกซื้อสินค้าฉลากเขียว หรือสินค้า และบริการที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การเลือกซื้อสินค้าฉลากเขียว หรือ Green procurement เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานกรีนมีทติ้งส์ จากทั้งหมด 8 แนวทางปฏิบัติที่ระบุไว้ใน Green Meetings Guideline ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กำลังรณรงค์ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ และผู้ใช้บริการในการจัดงานประชุม สัมมนา และงานเลี้ยงสังสรรค์ ได้นำไปใช้อยู่ในขณะนี้
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียว (Green label หรือ Eco-label) หรือที่เรียกกันติดปากว่าผลิตภัณฑ์สีเขียว คือผลิตภัณฑ์ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยจะได้รับการควบคุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิต การขนส่ง จนกระทั่งการกำจัดทำลาย เพื่อช่วยลดการปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม และช่วยประหยัดพลังงาน
แท้จริงแล้วโครงการฉลากเขียวในประเทศไทยได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2536 ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวมากกว่า 40 รายการ โดยไม่รวมยา อาหาร และเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไมซ์หรืออุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา เช่น ธุรกิจโรงแรม ศูนย์ประชุม จัดเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น ก็สามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้การจัดซื้อสีเขียว ทั้งฝั่งผู้ประกอบการไมซ์เองคือโรงแรม และผู้เกี่ยวข้อง และในฝั่งของผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เช่น กระดาษ เครื่องเขียน คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร ตลับหมึก เครื่องพิมพ์ สถานที่จัดงาน ที่พัก และการขนส่ง เช่น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ สีทาผนัง สิ่งอำนวยความสะดวกและทำความสะอาด เช่น ตู้เย็น เครื่องสุขภัณฑ์ กระดาษชำระ เครื่องซักผ้า สบู่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดถ้วยชามและพื้นผิว เป็นต้น เมื่อผู้บริโภคเรียกหาสินค้าฉลากเขียวมากขึ้น การพัฒนาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เลือกที่จะแตกต่างอย่างมีคุณภาพ กับคุณสมบัติที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
1. มีส่วนประกอบที่ทำจากวัสดุแปรใช้ใหม่ (Recycled content)
2. สามารถนำไปแปรใช้ใหม่ได้ (Recyclability)
3. ง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน (Product disassembly potential)
4. ทนทาน (Durability)
5. สามารถใช้ซ้ำได้ (Reusability)
6. รับคืนซาก (Take-back)
7. ผลิตจากวัสดุชีวภาพ (Bio-based)
8. ประหยัดพลังงาน (Energy efficiency)
9. ประหยัดน้ำ (Water efficiency)
10. เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตซ้ำ (Reconditioned or remanufactured)
11. อื่นๆ ที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Other attributes with positive environmental effects)
คงจะดีหากเราช่วยกันสังเกตสัญลักษณ์ฉลากเขียวทุกครั้งก่อนซื้อสินค้า จะได้มั่นใจว่าเงินทุกบาทของเราถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า นอกจากจะได้สินค้าคุณภาพดีแล้วยังช่วยต่ออายุให้โลกได้อีกทางหนึ่ง
อ้างอิง: http://www.mtec.or.th/ecodesign2009/images/stories/docs/10.pdf
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณรจิตร พุทธิพงษ์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์อาวุโส
บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
โทร.02-627-3501 ต่อ 204
อีเมล rkhemsaksith@th.hillandknowlton.com
คุณอริสรา ธนูแผลง
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
โทร.02-694-6000 ต่อ 6095
อีเมล arisara_t@tceb.or.th