ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบมจ. เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ เป็น ‘BBB+(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 5, 2010 13:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ของ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APD เป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘BBB(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) เป็น ‘F2(tha)’ จาก ‘F3(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ APD สะท้อนถึงผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดในปี 2552 และ อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด ณ สิ้นไตรมาสที่สองของ ปี2553 อันดับเครดิตยังมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขาย (Pre-sale) ที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่องทั้งในโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ และ โครงการอาคารชุดที่พักอาศัย ซึ่งเป็นผลมาจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น และจำนวนโครงการที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินของ APD น่าจะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ถึงปี 2554 จากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างโครงการอาคารชุด อย่างไรก็ตามเนื่องจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้น อัตราส่วนหนี้สินของ APD ดังกล่าวน่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับอัตราส่วนหนี้สินในช่วงปี 2549 ถึง 2551 ที่บริษัทมีการขยายธุรกิจ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงชื่อเสียงของ APD ที่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีในตลาดทาวน์เฮาส์ และ อาคารชุดพักอาศัย ระดับกลาง ถึงระดับบน นโยบายทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ รวมถึง ประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล นอกจากนี้ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ และเงินกู้รายโครงการจากสถาบันการเงินในประเทศอย่างต่อเนื่อง ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้กับบริษัทอีกด้วย กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ APD ในปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท และ กำไรจากการดำเนินงานดังกล่าวในครึ่งแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 91 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท โดยเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล รวมถึงฐานจำนวนโครงการพร้อมขายที่ใหญ่ขึ้น อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted Net Debt to EBITDAR) ลดลงมาอยู่ที่ 2.2 เท่า ณ สิ้นปี 2552 จาก 2.5 เท่า ณ สิ้นปี 2551 เนื่องจากกระแสเงินสดจำนวนมากจากการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดพักอาศัยที่แล้วเสร็จในครึ่งหลังของปี 2552 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งยังทำให้อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 1.5 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่สองของ ปี 2553 APD สามารถรักษาระดับยอดขายที่แข็งแกร่งได้ในปี 2552 และ ช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทมียอดขายเฉลี่ยรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านบาทในปี 2552 จาก 622 ล้านบาทในปี 2551 แม้ว่ายอดขายเฉลี่ยรายเดือนจะปรับตัวลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เนื่องจากโครงการอาคารชุดพักอาศัยเปิดใหม่ในช่วงดังกล่าวมีจำนวนน้อยลง ฟิทช์คาดว่ายอดขายเฉลี่ยรายเดือนในปี 2553 จะใกล้เคียงกับยอดขายเฉลี่ยรายเดือนในปี 2552 เนื่องจากโครงการอาคารชุดพักอาศัยใหม่จำนวนมากที่จะเปิดขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยคาดว่าจะทำให้ยอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ของ APD เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 ปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของ APD ได้แก่ลักษณะความเป็นวัฏจักรของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนของกระแสเงินสดเนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่มีความผันผวนสูง นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ APD ส่วนใหญ่เกิดจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นรายโครงการ ซึ่งทำให้ APD มีความเสี่ยงมากกว่า บริษัทในธุรกิจอื่น (ที่มีสถานะทางการเงินใกล้เคียงกัน) ที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความต่อเนื่องและแน่นอนมากกว่า ซึ่งส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นมีความต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงขาลงได้ดีกว่า แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า APD น่าจะสามารถรักษาสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และสภาพคล่องทางการเงิน ให้สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันได้ในช่วง 24 เดือนข้างหน้า การปรับเพิ่มของอันดับเครดิตอาจถูกจำกัดโดยความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองปีข้างหน้าจากการก่อสร้างอาคารชุดที่ได้เปิดขายไปแล้ว และการลงทุนซื้อที่ดิน ในทางกลับกันปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตถูกปรับลดลงได้แก่การขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ซึ่งรวมถึงการลงทุนซื้อที่ดินที่สูงกว่าที่คาด ยอดขายที่ต่ำกว่าประมาณการ อัตราการยกเลิกการจองที่สูง รวมถึงอัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ติดต่อ: Primary Analyst พิมรำไพ ปันยารชุน Associate Director +66 2655 4752 บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชั้น 13, อาคารเวฟเพลส, ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 Secondary Analyst สมฤดี ไชยวรรัตน์ Associate Director +66 2655 4762 Committee Chairperson Kalai Pillay Senior Director +65 6796 7221

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ