คุณผู้หญิงเสี่ยง.......ในการเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือสูง

ข่าวทั่วไป Friday November 5, 2010 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--โรงพยาบาลปิยะเวท โรคนี้เกิดขึ้นจากการที่เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับโดยพังผืดที่หนาตัวขึ้นที่บริเวณข้อมือด้านฝ่ามือ ทำให้เกิดมีอาการชาที่ฝ่ามือ โดยเฉพาะ นิ้วโป้ง ชี้ และกลาง รวมทั้งมีอาการปวดและอ่อนแรงที่มือตามมาจนกระทั่งเกิดความพิการที่มือได้ นพ. พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่าโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 80% สำหรับวัยที่มีความเสี่ยงสูงคือตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป โดยคนไทยมีโอกาสเป็นมากกว่าชาวยุโรป และมักจะเป็นทั้งสองมือ โดยอาจจะเป็นพร้อมกันก็ได้ โรคนี้ไม่ใช่โรคที่เกิดทางพันธุกรรมแต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ข้อมือและมือ ในลักษณะซ้ำๆ กันเป็นเวลานานๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่การเงิน ครู คนงานโรงงาน เป็นต้น หรืออาจเกิดจาก อุบัติเหตุ ทำให้มีการอักเสบของพังผืด กระดูกข้อมือหัก กดทับเข้าไปในโพรงข้อมือ นอกจากนี้อาจเกิดอาการติดเชื้อโรคในโพรงข้อมือ โรครูมาตอยด์ หรือก้อนเนื้องอกในโพรงข้อมือก็ได้ อาการเริ่มแรกจะมีอาการชาทั่วๆไปที่ฝ่ามือเหมือนเหน็บกิน ต่อมาจะชัดเจนขึ้นที่นิ้วโป้ง ชี้ กลางและนิ้วนาง มีอาการปวดร่วมด้วย ถ้าเป็นมากจะมีอาการชามาก ปวดมาก มักจะเป็นเวลากลางคืน และเป็นมากเวลาใช้มือ เช่น หวีผม กวาดบ้าน เป็นต้น ถ้าทิ้งไว้ไปรักษา กล้ามเนื้อฝ่ามือก็จะลีบลง มืออ่อนแอมีอาการผิดรูปหรือพิการได้ การตรวจวินิจฉัยโรคนี้ ทำได้โดยการตรวจร่างกาย การตรวจการนำคลื่นไฟฟ้าของเส้นประสาทข้อมือ การเอกซเรย์กระดูกข้อมือ สำหรับการรักษาโรคนี้ หากเป็นระยะเริ่มแรก ควรงดการใช้งานมือข้างนั้น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการใช้มือในลักษณะซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ใช้หมอนรองข้อมือเวลาทำงานและเวลานอน ร่วมกับการกินยาแก้อักเสบ หากอาการเป็นมากขึ้นปวดชามาก กินยาไม่ดีขึ้น อาจต้องฉีดยาที่บริเวณข้อมือ เพื่อลดอาการอักเสบภายในโพรงข้อมือ ซึ่งการฉีดยาแบบนี้ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดเกิน 3 ครั้ง เนื่องจากเป็นสารพวก สเตียรอยด์ อาจมีผลเสียได้ถ้าฉีดมากเกินไป ส่วนการรักษาขั้นสุดท้ายก็คือ การผ่าตัดโดยแพทย์จะทำการผ่าตัดพังผืดให้ขาดออก เพื่อลดการกดทับที่เส้นประสาทข้อมือ ปัจจุบันการผ่าตัดที่ข้อมือ สามารถทำได้โดยอาศัยกล้องส่องภายในข้อมือ ซึ่งการผ่าตัดโดยใช้กล้องช่วงนี้ จะทำให้แผลมีขนาดเล็กและหายเร็ว อาการปวดไม่มาก และสามารถใช้งานมือได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการหลีกเลี่ยงจากการเป็นโรคนี้ ก็ควรจะปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยการหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การใช้งานมือซ้ำๆเป็นเวลานานๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งออกกำลังกายบริเวณข้อมือด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-625-6555 โรงพยาบาลปิยะเวท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ