iTAP หนุนความรู้ “บรรจุภัณฑ์สีเขียว” ตระหนักก่อนผลิต สร้างโอกาสทางตลาด

ข่าวทั่วไป Friday November 5, 2010 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--iTAP iTAP ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อบรมในหัวข้อ “Green Material : วัสดุสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม” หวังเผยแพร่ความรู้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมตระหนักการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ขยายโอกาสทางการค้า ยกตัวอย่าง “ชานอ้อย” ของเหลือจากการเกษตรใช้ทำบรรจุภัณฑ์จนเป็นที่ยอมรับ ย้ำบรรจุภัณฑ์สีเขียวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มคนรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กระแสโลกร้อนส่งผลให้หลายคนหันมาให้สนใจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่หลายคนมองว่าเป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อม การปรับตัวของอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากอาจไม่ได้เป็นแค่ความตระหนักอย่างเดียว แต่อาจกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้า กฎหมาย หรือภาพลักษณ์ที่จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสนองตอบกระแสผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วัสดุสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ Green Material จึงได้รับความสนใจ เช่น เป็นวัสดุชีวภาพ สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือวัสดุที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ฯลฯ การทำงานเพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถสร้างบรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมหรือหันมาให้ความสำคัญกับวัสดุสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโครงการเพิ่มขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม(XCEP) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค)โดยครั้งนี้เป็นการฝึกอบรมในหัวข้อ “Green Material : วัสดุสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม” มุ่งหวังให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมให้ตระหนักในการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและขยายโอกาสทางการค้า นางสาว ชมพูนุท วีรกิตติ ผู้อำนวยการห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) กล่าวในการอบรมครั้งนี้ว่า กระแสอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจ แนวทางการนำบรรจุภัณฑ์สีเขียวมาใช้ประโยชน์จึงมีเพิ่มขึ้น และเป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ข้อมูลจาก TCDC รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้บรรจุภัณฑ์ทั่วโลก อาทิ บังคลาเทศเป็นประเทศแรกของโลกที่ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปี 2545 , ร้านค้าในประเทศจีนทุกร้านต้องคิดค่าถุงพลาสติกและห้ามผลิต จำหน่ายและใช้ถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.025 มิลลิเมตรเนื่องจากนำมาใช้ซ้ำไม่ได้ หรือในประเทศอังกฤษมีหน่วยงานรับร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์เกินความจำเป็น ,ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไปหน่วยราชการไทยทุกแห่งจะซื้อเฉพาะสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น , ประเทศไทยมีขยะโฟมปีละไม่ต่ำกว่า 2,900 ล้านชิ้นแต่รีไซเคิลได้เพียง 5% เท่านั้น ,พลังงานที่ใช้ผลิตขวดพลาสติกใหม่ 1 ใบใช้ รีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึง 8 ใบ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่ทุกคนต้องหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์ ผู้อำนวยการห้องสมุดวัสดุฯ TCDC กล่าวอีกว่า ตัวอย่างความพยายามในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์สีเขียวสำหรับต่างประเทศมีตัวอย่างที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ประเทศอินเดียนำกาบหมากมาทำเป็นภาชนะใส่อาหาร การนำแป้งข้าวโพดมาทำถาดช็อกโกแลตแทนกระดาษ นอกจากนี้ยังมีการผลิตโฟมจากเศษพืชทางการเกษตร โดยใช้เมล็ดฝ้าย เปลือกข้าว เปลือกถั่วที่มีลิกนินสูงและเพาะราชนิดหนึ่งที่ปลอดภัยไม่เป็นพิษ ราจะผลิตเส้นใยสีขาวจำนวนมากซึ่งจะห่อหุ้มและย่อยเปลือกข้าวทำให้ทั้งราและเปลือกข้าวติดกันเป็นก้อนที่มีความแข็งแรง โดยเป็นการผลิตวัสดุแทนโฟมที่ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตโฟมจริงถึง 10 เท่าและยังสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ การผลิตกล่องมีชีวิต ซึ่งเป็นกล่องที่สามารถนำมาปลูกเป็นต้นไม้ได้ โดยทำจากกระดาษรีไซเคิลที่ บรรจุเมล็ดพืชหลายชนิดถึง 100 เมล็ดพร้อมกับสปอร์ของราชนิดหนึ่ง โดยราจะช่วยปกป้องและให้อาหารกับเมล็ดพืช นอกจากนี้กล่องดังกล่าวยังเก็บได้ถึงสองปีก่อนที่จะนำไปปลูก ฯลฯสำหรับประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะทำบรรจุภัณฑ์สีเขียว และกระแสการหันมาให้ความสนใจวัสดุสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มขึ้น เช่น หน่วยงาน KU-GREEN ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำผลิตภัณฑ์โฟมใส่อาหารจากมันสำปะหลัง หรือบริษัทพาโนรามา ซอยอิงค์ จำกัด ซึ่งผลิตหมึกพิมพ์จากน้ำมันถั่วเหลืองและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีทางเลือกสำหรับวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างผลิตภัณฑ์ภาชนะสำหรับบรรจุอาหารจากชานอ้อย นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด เปิดเผยด้วยว่า ผู้ใช้บรรจุภัณฑ์สีเขียวมีเพิ่มขึ้นโดยบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจะสนับสนุนทั้งเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แม้ราคาจะสูงกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป แต่หลายคนเริ่มเข้าใจและมีการนำมาใช้มากขึ้น บริษัทฯมีกลุ่มลูกค้าอย่างนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ต้องการสร้างขยะเพิ่มขึ้นในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ กลุ่มสถาบันการศึกษา หรือกลุ่มผู้ซื้อทั่วไปที่คำถึงสุขภาพเนื่องจากหากบริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกอาจก่อให้เกิดโรค รวมทั้งกลุ่มสถานที่สำคัญทางศาสนาอย่างวัดเนื่องจากหากมีงานกิจกรรมทางศาสนาต่างๆจำเป็นต้องใช้ภาชนะใส่อาหารที่ปลอดภัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะตามมา นอกจากนี้ยังสามารถใช้ซ้ำได้ 2-3ครั้งบางคนอาจใช้ซ้ำได้ถึง 5 ครั้ง วิธีทำความสะอาด คือ ล้างเหมือนภาชนะทั่วไปแต่รูปทรงอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด กล่าวอีกว่า สำหรับภาชนะต่างๆที่ทำจากชานอ้อยนั้นยังมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นตลาดต่างประเทศโซนยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมองว่า“ชานอ้อย” เป็นวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรที่บ้านเรามีมากเหมาะสมสำหรับการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ “เนื่องจากบ้านเรามีโรงงานน้ำตาลเป็นจำนวนมากจึงมีวัตถุดิบเพียงพอ อดีตยังมีการนำชานอ้อยไปทำแผ่นไม้อัด ผสมทิชชู่ ฯลฯแต่เหล่านี้สร้างมูลค่าเพิ่มไม่มากเท่าการนำมาทำภาชนะ โดยภาชนะชานอ้อยนี้มีบริษัทฯเราเพียงเจ้าเดียวในไทยที่นำมาทำผลิตภัณฑ์และในโลกมีเพียงไม่กี่ราย และยังมองหาโอกาสไปสู่วัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การจัดอบรมให้ความรู้ของ iTAP ยังมองว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งช่วยสร้างแนวทางการนำของเหลือทางการเกษตรเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพของผู้ใช้เอง รวมถึงการนำมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ต่อไป” สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP สามารถติดต่อได้ที่ โทร.02-564 -7000 ต่อ 1301 และ 1381

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ