กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สสวท.
เยาวชนคนแก่ง “ทีมลูกเจ้าตาก” ซิวแชมป์แข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ระดับมัธยมฯ โครงการ IPST ROBOT CONTEST 2010เตรียมนำผลงานไปโชว์ในเวทีคอมพิวเตอร์โอลิมปิกโลก..ปีหน้า
ในปีพ.ศ. 2554 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัด การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการประเดิมอุ่นเครื่องก่อนจะถึงเวทีระดับโลก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสต์และเทคโนโลยี(สสวท.) จึงได้จัด “โครงการ IPST ROBOT CONTEST 2010” ขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ สร้างความตระหนักในการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนไทย เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ กระจายไปยังโรงเรียนในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยการนำหุ่นยนต์มาเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของเยาวชน ด้วยการจัด การแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ขึ้น และมีการประกาศผลผู้ชนะเลิศไปเมื่อเร็วๆนี้
เยาวชนคนเก่งที่เข้าร่วมการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์มีทั้งหมดปีนี้มีจำนวน 200 ทีม จากโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ จากนั้นคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 20 ทีมแต่ละทีมมี ภารกิจในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ ให้สามารถเลี้ยงลูกบอลไปตามเส้นทางที่กำหนด และเตะลูกบอลให้เข้าประตู โดยมีการแข่งขันครั้งละ 2 ทีมต่อ 1 สนาม โดยกรรมการจะดูว่า นักเรียนแต่ละทีมมีเทคนิคในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้หุ่นยนต์ทำงานได้เร็วหรือช้า มีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด ตามเงื่อนไขในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการใช้ความรู้หลายๆด้านมาบูรณาการ ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมที่ชนะเลิศคือ “ทีมลูกเจ้าตาก” จาก โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดระยอง ประกอบด้วย นายกชกร ศรีสุข นายคมกฤช พรหมรักษา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ ด.ช. อนุวัต สุวรรณพิทักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยถึง โครงการดังกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างความสนใจให้แก่นักเรียน ในการนำความรู้หลายๆ ด้านมาสร้างสรรค์ และบูรณาการเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มาใช้กับการเขียนโปแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสสวท.มีนโยบายที่จะส่งเสริมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีนโยบายจะประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำกิจกรรมนี้ขยายไปสู่โรงเรียนในทุกภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น จะส่งเสริมให้มีโอกาสเข้าสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาต่างๆ นับว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไป
“แบงค์” นายกชกร ศรีสุข อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นม.5 จากโรงเรียนบ้านค่าย จ.ระยอง หนึ่งในทีม “ลูกเจ้าตาก” ทีมผู้ชนะเลิศ บอกว่า ชอบเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 แล้ว เวลาที่อาจารย์ให้ทำงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จะมีความรู้สึกดี และมีความสุข ส่วนเรื่องหุ่นยนต์เริ่มมากจากการทำหุ่นยนต์ที่บังคับด้วยมือก่อน จากนั้นก็เรียนรู้ และพัฒนาความสามารถมาเรื่อยๆ
“ผมเริ่มรู้จักการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อมีรุ่นพี่ระดับปริญญาตรีมาอบรมที่โรงเรียนตอนที่เรียนอยู่ชั้นม.4 และรุ่นพี่ที่โรงเรียนที่มีความสนใจด้านคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ช่วยแนะนำ และเรียนรู้ในวิชาคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน เวลาที่เรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผมรู้สึกว่ามีความสุข รู้สึกดี รู้สึกสนุกครับ”
แบงค์ เล่าต่อว่า ในอนาคตเขาตั้งใจว่าจะเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอยากเข้าเรียนทางด้านวิศวกรรม-คอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาตรีต่อไป เพราะอยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ในอนาคต ส่วนช่วงนี้จึงพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ด้วยการซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม การค้นคว้าจากอินเตอร์เนต และถามจากผู้รู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่จะมีขึ้นในปีหน้าที่ประเทศไทย กชกร บอกว่า รู้สึกดีใจครับ เพราะแสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการของประเทศไทยได้พัฒนาไปในระดับสากลแล้ว รวมถึงความสามารถของเด็กไทยในด้านคอมพิวเตอร์เองด้วย ที่ผ่านมาเคยดูแต่ในทีวี ตอนนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทย น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยหลายคน อยากที่จะเข้าร่วมในคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งนี้ ด้วยการพยายามเรียนรู้และพัฒนาความสามารถให้เทียบเท่าเพื่อนๆที่เข้าร่วมแข่งขัน
ด้าน “น๊อต” นายคมกฤช พรหมรักษา อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนบ้านค่าย จ.ระยอง เพื่อนร่วมทีม บอกว่า ดีใจมาก ที่จะได้นำผลงานชิ้นนี้ไปโชว์ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพที่เมืองพัทยา ในปีหน้าด้วย สำหรับการเขียนโปรมแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ในการแข่งขันครั้งนี้ ตนเองช่วยเพื่อนๆในทีมคิดในด้านออกแบบโปรแกรม ขั้นตอนในการบังคับหุ่นยนต์ ซึ่งต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รูปแบบการเขียนคำสั่ง ลงโปรแกรม
“อนาคตผมอยากรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบการออกคำสั่งที่ซับซ้อนมากขึ้น เพราะชอบเกี่ยวกับด้านคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ผมสนใจเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ครับ อาจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของหุ่นยนต์ และอยากเรียนด้านการเขียนโปรแกรม เพราะอนาคตอยากเป็นโปรแกรมเมอร์”
น๊อต เผยว่าที่ชอบคอมพิวเตอร์เพราะ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับความรู้ด้านอื่นๆได้ เช่น การสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถดูแลระบบต่างๆในการนำไปประยุกต์ใช้งานในอนาคต
ส่วน “น้องมิว” ด.ช.อนุวัตร สุวรรณพิทักษ์ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นม. 2 โรงเรียนบ้านค่าย จ.ระยอง หนุ่มน้อยที่สุดในทีม บอกว่า เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมตั้งแต่ชั้นม.1 จากรุ่นพี่ในโรงเรียน ที่ชวนเข้ามาร่วมทีมและช่วยสอน เพื่อให้มีความต่อเนื่อง เมื่อรุ่นพี่จบออกไปแล้ว เมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศ รู้สึกดีใจ และคิดว่าจะพัฒนาความรู้ต่อไปเรื่อยๆ
“จริงๆแล้ว ผมเพิ่งอยู่ม.2 ยังไม่ได้สนใจวิชาใดเฉพาะเป็นพิเศษ แต่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว คิดว่าคงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมไปก่อน จึงจะตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเรียนอะไร ส่วนการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศที่จะมีขึ้นปีหน้า ผมคิดว่าน่าจะทำให้เด็กไทยตื่นตัวขึ้นในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ครับ”
อาจารย์เสาวลักษณ์ ณ รังศี อาจารย์โรงเรียนบ้านค่าย จ.ระยอง อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม บอกว่า ส่วนใหญ่แล้วเด็กๆกลุ่มนี้เขาจะศึกษากันเอง แต่เมื่อมีอะไรไม่เข้าใจจึงมาถามครู หน้าที่ครูจึงค่อยแนะนำ และหาประสบการณ์ใหม่ๆมาให้เขาได้เรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้สอนคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กได้ใช้คอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง และสร้างสรรค์ และแบ่งเวลาให้ดีขึ้นระหว่างเพื่อความบันเทิง และใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา
“การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศที่จะมีขึ้นในปีหน้า ก็น่าจะเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้เห็นประสบการณ์ใหม่ๆเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมในระดับที่สูงขึ้นไปด้วย เพราะการเขียนโปรแกรมต้องอาศัยประสบการณ์ มองหลายๆด้าน เห็นหลายๆครั้ง และนำมาประยุกต์ใช้” อาจารย์เสาวลักษณ์ ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ ในโครงการ “IPST ROBOT CONTEST 2010” จะมีโอกาสนำผลงานไปจัดแสดงให้กับนักเรียนจากประเทศต่างๆ ที่มาเข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2554 ที่จะมีขึ้นที่เมืองพัทยา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในโอกาสต่อไป