กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สกว.
30 ปี แห่งการต่อสู้ของประมงพื้นบ้านปัตตานี กว่าจะรวมกลุ่มสร้างเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านที่มีการเรียนรู้ แก้ไขปัญหา และพัฒนาวิถีประมงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง และมีกลไกช่วยเหลือกัน ในวันนี้ที่ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีราว 83,000 คน ใน 52 หมู่บ้าน ที่อยู่กระจัดกระจายตามแนวชายฝั่ง พยายามอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง และอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน
“เรืออวนรุน ลักษณะของลำเรือยาว ประมาณ 15 เมตร เครื่องยนต์ 500 แรงม้าขึ้นไป คันรุนทำด้วยสแตนเลต 37 ม. ขึ้นไป ซึ่งข้างหน้าจะใช้โซ่ถ่วงปัดใช้กำลังของเครื่องยนต์ดันไปข้างหน้า จะใช้อวนตาถี่โดยโซ่จะปั่นหน้าดินทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งหญ้าทะเล และแนวปะการังก็จะถูกกวาดทำลายไปหมด” ตัวแทนชมรมพื้นบ้านปัตตานีและชาวประมงพื้นบ้านช่วยกันอธิบายพร้อมแบบจำลองเรืออวนรุนที่ทำขึ้นเพื่อให้เห็นภาพจริงมากกว่าการพูดปากเปล่า เพราะปัญหาใหญ่ที่ชาวประมงพื้นบ้านต่อสู้มาตลอดคือการประมงเชิงพาณิชย์ที่มี “อวนรุน” และ “อวนลาก”เป็นเครื่องมือจับปลาที่มากเกินไปจนกระทบถึงวิถีชีวิตประมงชายฝั่ง เมื่อทรัพยากรเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
ในวันนี้...แม้มีกฎ กติกาให้ต่างฝ่ายใช้ “ทะเล” ร่วมกัน ปัญหาการรุกล้ำก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นนอกจากการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจตราอย่างเข้มแข็ง ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีเริ่มหันมาพึ่งตนเองและพึ่งกันเองให้มากขึ้น ทั้งเรื่องการเฝ้าระวังป้องกันการรุกล้ำของเรืออวนรุน และการพยายามฟื้นฟูความสมบูรณ์ของชายฝั่งเพื่อให้สัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็น ปลา ปู กุ้ง หอย ฯลฯ กลับคืนมา
หลายอย่างที่พวกเขาร่วมกันทำ อาทิเช่น การทำซั้ง...ปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน เป็นผลจากการฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมและพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัยซึ่งผู้อาวุโสในชุมชนกล่าวว่า “เป็นทั้งเครื่องล่อปลาและล่อคนให้มารวมกัน” การทำซั้งเน้นการใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและไม่เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดยการทำซั้งในปัจจุบันใช้ไม้ไผ่มาผูกโยงกับทางมะพร้าวแล้วใช้กระสอบบรรจุทรายมาเป็นตัวถ่วงไม่ให้ไม้ไผ่ลอยหายไป โดยจะทิ้งเป็นกลุ่ม ๆ แล้วแต่ความต้องการของชุมชน เป้าหมายของการทำซั้งปะการังเทียมแบบพื้นบ้านในปัจจุบันนอกจากจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนแล้ว ยังเป็นเครื่องล่อให้สัตว์น้ำมารวมตัวกันเพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านไปทำมาหากินด้วยการตกเบ็ดรวมทั้งซั้งยังถูกใช้เป็นแนวเขต 3,000 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพการทำลายสูง รุกล้ำเข้ามาในเขตชายฝั่ง ถึงแม้จะไม่ได้มากนักก็ตาม
ในงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง “บทบาทของชุมชนประมงพื้นบ้านในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี กรณี บ้านตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านหลายคนร่วมเป็นนักวิจัยชาวบ้านเมื่อหลายปีก่อน และเกิดผลในทางปฏิบัติต่อเนื่องถึงปัจจุบัน นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนชายทะเลแห่งนี้ กับวิถีชีวิตการแสดงให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินชีวิต “เศรษฐกิจพอเพียง” ในความหมายของชาวประมงพื้นบ้านที่หมายถึงการที่ชุมชนมีความสามารถหรือมีอำนาจในการจัดการกับฐานทรัพยากรอันหลากหลายของชุมชน ความสามารถในการควบคุมการจัดการทรัพยากรในทะเลและในคลอง โดยการใช้ระบบคุณค่า ภูมิปัญญา จารีตท้องถิ่นและวิถีการประกอบอาชีพ เพื่อการพึ่งพาตนเองและพิทักษ์รักษาระบบชีวิตนิเวศน์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
การรวมตัวกันก่อตั้งเป็นสมาคมประมงพื้นบ้าน และร่วมกันดำเนินการเพื่อทำกิจกรรมอันนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหา โดยการเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชนเรื่องปัญหาและความสูญเสียของทรัพยากรทางทะเลอันเนื่องมาจากอวนรุน การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสำนึกถึงคุณค่าของทรัพยากรแห่งท้องทะเลแก่เยาวชนที่เป็นลูกหลานของคนในชุมชน มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ทั้งเรื่องการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และอื่น ๆ ที่ล้วนเกี่ยวโยงอยู่กับคนทุกระดับในชุมชน
“วันนี้...ถ้าเปรียบเทียบกับปีที่แล้วดีกว่ามาก เมื่อก่อนนี้เขาต้องออกเรือไปไกล ๆ แทบไม่เห็นหน้าลูกเมีย แต่พอทำตรงนี้หากินง่ายขึ้นไม่ต้องออกไปไกลและได้เยอะมากขนาดต้องเอากลับมาปลดที่บ้านลูกเมียก็ช่วยกันทำ เป็นอะไรที่เรารู้สึกเราภูมิใจมากที่เราทำให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น” ชาวประมงพื้นบ้านหลายคนที่ยืนยันว่า ปัญหาเรืออวนรุนในตอนนี้ลดลงไปมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีมาตรการและความร่วมมือในการปฏิบัติที่เข้มข้น วันนี้หน้าทะเลของหมู่บ้านมีกุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การคืนมาของ “ชีวิต”ในทะเลก็หมายถึงการมีคุณภาพที่ดีของพวกเขาด้วยเช่นกัน
วันนี้...ชุมชนประมงชายฝั่งแห่งนี้มี “ทุน” ของชุมชนที่พร้อมและมีการจัดการที่ดี พวกเขายังคงเดินหน้ารักษาทะเลให้เป็นแหล่งชีวิตของชุมชนต่อไป และบอกว่าจะดีมากกว่านี้หากหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จัดการ ดูแล เรื่องเจ้าหน้าที่เรือลาดตระเวนชายฝั่งรอบอ่าวปัตตานี ที่มาทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง แค่สัก 10 คนก็พอ ที่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนได้ คอยผลัดเปลี่ยนกัน ไปออกเรือลาดตระเวนชายฝั่งร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งชุมชนมีพร้อมทั้งเรือ คน และน้ำมัน (มีกองทุนน้ำมัน) จะสร้างความเชื่อมั่นและกำลังใจให้กับชาวประมงพื้นบ้าน อีกทั้งยังเชื่อจะช่วยคลี่คลายปัญหาประมงชายฝั่งไปได้มาก เพราะพวกที่จ้องกระทำผิดกลัวการปฏิบัติหน้าที่ที่เข้มแข็งและยุติธรรม ตามกฎหมาย ของเจ้าหน้าที่ และรัฐควรสนับสนุนร่างกฎหมายที่ให้ชุมชนมีหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรและท้องทะเล ความจริงใจและจริงจังในการทำงานของภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้อง
“ชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้ต้องการเอกสารสิทธิ แต่ต้องการสิทธิที่เป็นของหมู่บ้าน เพราะรู้สึกว่าสิทธิที่เป็นของปัจเจกบุคคลสุดท้ายก็อาจขายกันได้ แต่สิทธิที่เป็นของหมู่บ้าน ของตำบล ที่คนในหมู่บ้านจะใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”
น่าเสียดาย...ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านพยายามสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน และในระยะหลังทางราชการได้ให้ความสนใจปัญหาดังกล่าวมากขึ้น และมีความพยายามเข้ามาคลี่คลายปัญหา รวมทั้งหน่วยงานรัฐอีกหลาย ๆ หน่วยงานที่ได้เริ่มช่วยเหลือ และให้ความตระหนักกับปัญหานี้ ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนมีโอกาสในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลาในการแก้ไข
....ในช่วงสถานการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับมีความพยายามของบุคคลกลุ่มหนึ่ง ตอกย้ำชาวบ้านให้เข้าใจว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำ รัฐไม่เคยมองเห็น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดอยู่ในมือรัฐ ทั้งในเรื่องกฎหมาย อำนาจควบคุม การเรียกร้องของชาวบ้าน เพื่อกำจัดเครื่องมือที่ทำลายล้างทรัพยากร เพื่อให้ทรัพยากรมีความยั่งยืน ไม่เคยได้รับการใส่ใจจากรัฐ ....
นี่คือ...ความเหน็ดเหนื่อยของชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี และปัญหา“ความมั่นคงมนุษย์”ของคนพื้นที่ซึ่งถูกทำให้สั่นคลอน....ซึ่งความร่วมมือ ความจริงใจ และความจริงจังในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นเกราะป้องกันให้พวกเขาและไม่ทำให้ความพยายามในการต่อสู้ ฟื้นฟูทะเลและทำให้ชุมชนเข้มแข็งต้องสูญเปล่า.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทร.0-22701350
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net