กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--เอ็ม.โอ.ชิค
วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) และสถาบันจิตศึกษาเมืองซานตา บาร์บารา สหรัฐอเมริกา ร่วมเปิดพรมแดนความรู้ใหม่แก่ประชาชน เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างพระพุทธศาสนากับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ โดยวิทยากรชื่อดังระดับโลกทั้งในละต่างประเทศ ในงาน “การประชุมพระพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ 3” (The 3rd World Conference on Buddhism and Science) ภายใต้หัวข้อ “พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์” ระหว่างวันที่ 1 — 2 ธันวาคม 2553 ณ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของมนุษย์ซึ่งให้ทั้งความรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิต รวมทั้งช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายและมีความสุข การบูรณาการความรู้จากสองศาสตร์เข้าด้วยกันย่อมเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อความผาสุกของมวลมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) และสถาบันจิตศึกษาเมืองซานตา บาร์บารา สหรัฐอเมริกา ร่วมเปิดพรมแดนความรู้ใหม่แก่ประชาชน เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างพระพุทธศาสนากับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ในงาน “การประชุมพระพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ 3” (The 3rd World Conference on Buddhism and Science) ภายใต้หัวข้อ “พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์” ซึ่งทางวิทยาลัยได้จัดไปแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2551 และ 2552 เพื่อสำรวจดูความเป็นไปได้ของความร่วมมือระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้มาเพื่อประโยชน์ดังกล่าว โดยการประชุมที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน เพราะถึงแม้ว่าพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์มีวิธีหาความรู้แตกต่างกันตามธรรมชาติของศาสตร์ แต่ความรู้ที่ได้มามีลักษณะเสริมซึ่งกันและกันและเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย พุทธศาสนาอาจนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายและ/หรือพิสูจน์ความจริงของพระธรรมคำสอน ส่วนวิทยาศาสตร์อาจนำความรู้จากพระปรีชาญาณของพระพุทธองค์มาเพิ่มคุณค่าแก่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาด้วยวิธีปรวิสัยให้มีความล้ำลึกมากขึ้นและเป็นประโยชน์แท้จริงแก่มนุษยชาติ
“การประชุมพระพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ 3” (The 3rd World Conference on Buddhism and Science) ภายใต้หัวข้อ “พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์” ในครั้งนี้ จึงเป็นความพยายามของวิทยาลัยศาสนศึกษาและองค์กรพันธมิตรที่จะขยายขอบเขตของความร่วมมือดังกล่าวให้กว้างขึ้นครอบคลุมไปถึงเรื่องจักรวาล ธรรมชาติของสภาพความเป็นจริง ธรรมชาติของมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับวัตถุ นอกจากนี้ยังพยายามสำรวจด้วยว่าการเชื่อมโยงความรู้ทางศาสนาเข้ากับความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และการจัดการมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในการสร้างรูปแบบใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และในการจัดการองค์กรให้เจริญก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการประชุมในครั้งนี้มีวัตุประสงค์หลักคือ 1) เพื่อให้ผู้เข้าประชุมมองเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการเชื่อมโยงความรู้ทางศาสนาและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน พร้อมกับได้เรียนรู้งานวิจัย
ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับหัวข้อที่มีอยู่หรือกล่าวถึงในพระธรรมคำสอน เช่น กำเนิดและการสิ้นสุดของจักรวาล ธรรมชาติของสภาพความเป็นจริง ธรรมชาติของมนุษย์ และความสัมพันธ์รหว่างจิตกับวัตถุ 2) เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการศาสนาและนักวิทยาศาสตร์ร่วมมือกันบูรณาการความรู้ที่ได้มาด้วยวิธีจิตวิสัย และปรวิสัยเข้าด้วยกันเพื่อความผาสุกของมวลมนุษย์
สำหรับโครงสร้างและเนื้อหาสาระของการประชุมแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1) ปาฐกถานำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นจุดร่วมกันของพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการบูรณาการความรู้จากสองศาสตร์เข้าด้วยกัน 2) การบรรยายทางวิชาการ อาทิ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งหลังสุดเกี่ยวกับกำเนิดของจักรวาล จิต สมอง ประสบการณ์ทางจิต และธรรมชาติและชะตากรรมของมนุษย์ และการเชื่อมโยงพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ 3) การนำเสนอผลงานวิจัยในกลุ่ม พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์แห่งจิต และพุทธศาสนากับสังคมศาสตร์ โดยผลงานที่จะนำเสนอมีทั้งหมด 12 เรื่อง เช่น พุทธศาสนากับควันตัมฟิสิกส์ กฎธรรมชาติในพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ พันธุกรรมและธรรมชาติของมนุษย์ และพุทธศาสนากับจิตบำบัด และ 4) การฝึกปฏิบัติสมาธิ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าประชุมได้รับประโยชน์ทันทีจากการประชุมด้วยการเลือกฝึกอานาปานสติให้จิตสงบหรือฝึกเมตตาภาวนา ให้จิตอ่อนโยน และมีความรักความเมตตา โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เป็นนักวิชาการที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เดนิส โนเบิล มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (CBE FRS FRCP) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง ดนตรีแห่งชีวิตท้าทายความรู้ทางชีววิทยา โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทของพันธุกรรมในการกำหนดชะตากรรมมนุษย์ ดร. อลัน วอลเลซ ผู้อำนวยการสถาบันจิตศึกษา ซานตา บาร์บารา สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธธิเบต ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สมาชิกอาวุโสของสถาบันการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศาสตราจารย์เกียรติคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ และได้รับเชิญไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ ในประเทศอยู่เสมอ ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ ทูมาซู ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ศาสตราจารย์เพียร์ ลุยจิ ลุยซิ ผู้เชี่ยวชาญทางพันธุกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโรม อิตาลี ดร.มาริโอ โบเรอการ์ด นักวิชาการทางวิทยาศาสตร์แห่งจิตแห่งมหาวิทยาลัยมอนทรีแอล แคนาดา ศาสตราจารย์อดัม แฟรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจักรวาลวิทยา (Astrophysics) มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ สหรัฐอเมริกา คุณอนนต์ สิริแสงทักษิณ ซีอีโอ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้บริษัทเจริญก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ราสมุส โฮการ์ด นักธุรกิจชาวเดนมาร์ก ผู้พยายามเชื่อมโยงพุทธศาสนาเข้ากับโลกธุรกิจ ด้วยการฝึกอบรมนักธุรกิจให้มีสติความเมตตาและปัญญาในการประกอบอาชีพควบคู่กับความรู้เฉพาะด้าน
ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้จะประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการพุทธศาสนา พระสงฆ์ และฆราวาสจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 300 คน โดยทางวิทยาลัยศาสนศึกษาและองค์กรพันธมิตร คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เข้าร่วมประชุม คือ 1) ช่วยลดช่องว่างระหว่างศาสนาและวิทยาศาสตร์ และให้มีความร่วมมือกันแทนที่ 2) อคติที่นักวิชาการทางศาสนาและนักวิทยาศาสตร์อาจมีต่อกันลดลงหรือหายไป ทำให้การบูรณาการความรู้ทางศาสนาและทางวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อความผาสุกของมนุษย์เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และ 3) ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้การศึกษาแปละวิจัยทางพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น เรื่องกำเนิดและสิ้นสุดของจักรวาล ธรรมชาติของสภาพความเป็นจริง และความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับวัตถุ
การประชุมพระพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ 3 (The 3rd World Conference on Buddhism and Science) เรื่อง
“พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2553 ณ ห้องประชุมน้ำทองคุณวิศาล ชั้น 3 วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.wcbsthailand.com หรือ โทร.0-2513-9784-5, 089-678-3777
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2513-9784 บ. เอ็ม.โอ.ชิค จำกัด