สนพ. ดึงกลุ่มผู้ประกอบการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหาร ตั้งเป้า 5 ปี ทดแทนแอลพีจีได้กว่า 16.3 ล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2010 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สนพ.ย้ำส่งเสริมผลิตก๊าซชีวภาพให้ได้ 300 แห่งทั่วประเทศ คาดผลิตก๊าซชีวภาพได้ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ด้านโตโยต้า เผยเข้าร่วมโครงการส่งเสริม การผลิตก๊าซชีวภาพ ช่วยทดแทนก๊าซแอลพีจีในโรงอาหารได้ถึงปีละ 5,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนบาท นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ก๊าซชีวภาพเป็นอีกทางเลือกของการใช้พลังงาน ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน โดยสนพ. ได้เร่งผลักดันให้มีการ ใช้ก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในกลุ่มผู้ประกอบการ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคปศุสัตว์ ประกอบด้วย ฟาร์มสุกรขนาดเล็ก ฟาร์มสุกรขนาดกลาง-ใหญ่ โรงฆ่าสัตว์ และโรงชำแหละแปรรูปไก่ ภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย โรงแป้งมัน โรงปาล์ม โรงเอทานอล โรงน้ำยางข้น โรงแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอื่นๆ และ ภาคชุมชน ส่งเสริมก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารในโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำก๊าซชีวภาพมาใช้งานแล้วรวม 480 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2,775 ล้านบาทต่อปี และลดปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 50 ล้านตัน “กลุ่มสถานประกอบการ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์การค้า สถาบันการศึกษา ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีปริมาณของเสียจากเศษอาหาร ในแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิง LPG ได้ โดยมีเป้าหมาย 300 แห่ง ในระยะเวลา 5 ปี (2551 — 2556) หรือสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยลดปริมาณ ขยะแล้ว ผู้ประกอบการยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากการประหยัดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงาน ทั้งยังช่วยประเทศชาติลดการนำเข้าพลังงาน และลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,800 ตัน รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่นเหม็น แมลงรบกวน ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายวีระพล กล่าว ด้านนายชาญชัย ทรัพยากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้บริหารโรงงานประกอบรถยนต์ โตโยต้าบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารเหลือทิ้ง โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 1,203,000 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพ จากเศษอาหารเหลือทิ้งรวมมูลค่า 1,725,650 ล้านบาท โดยระบบดังกล่าวสามารถรองรับขยะเศษอาหารได้ 500 กิโลกรัมต่อวัน ผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 75 ลบ.ม. ต่อวัน นำมาทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ภายในโรงอาหารได้ปีละ 5,016 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 100,326 บาทต่อปี นอกจากนั้นเศษกากที่เหลือทิ้งจากการผลิตก๊าซชีวภาพ ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยน้ำในปริมาณ 66,900 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่า 200,700 บาท “ปัจจุบัน บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร เพื่อใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG ในโรงอาหารของโรงงานฯ, การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน และในอนาคตบริษัทฯ มีแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล อย่างไรก็ดี พลังงานทดแทนคือจุดเริ่มต้นขออนาคตด้านพลังงานที่มั่นคง อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย” นายชาญชัยกล่าว อนึ่ง จากการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพฯ ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการจำนวนมาก โดย โรงงานประกอบรถยนต์ โตโยต้า บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ก็เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-612-1555 สนพ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ