ปภ. เตือนขับขี่รถลุยน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2007 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ขับรถในช่วงฝนตกหนักและน้ำท่วมสูง ให้ระมัดระวังการขับขี่ พร้อมแนะเทคนิคการเตรียมความพร้อมทั้งรถยนต์และผู้ขับขี่
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การขับรถในฤดูฝนโดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนักอาจเกิดน้ำท่วมสูงกว่าปกติและหากปริมาณน้ำท่วมห้องเครื่องแล้ว จะทำให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหายและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้นได้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือมีความจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ ผู้ขับขี่ควรเตรียมตัวให้พร้อมใน 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนลุยน้ำ ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง เพื่อป้องกันน้ำมันหมดระหว่างทาง อีกทั้งแรงดันจากน้ำมันยังช่วยอัดไม่ให้เกิดไอน้ำภายในถัง จุดที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษคือ ระบบสายไฟทั้งคอยล์สายไฟ จานจ่ายไฟและปลั๊กหัวเทียน หากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบจ่ายไฟจะทำให้เครื่องยนต์ดับในทันทีให้ใช้สเปรย์กันความชื้นฉีดป้องกัน เพราะความชื้นจากการลุยน้ำอาจทำให้เกิดไอน้ำเกาะเป็นต้นเหตุให้เครื่องดับได้ ขณะลุยน้ำ ไม่ควรเร่งรอบเครื่องเพราะปลายใบพัดอาจวักน้ำกระจายเข้าห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับได้
หากต้องขับรถในพื้นที่ที่เป็นดินหรือลูกรังพื้นจะมีความลื่น ให้แก้ไขโดยถอนคันเร่งเพื่อลดความเร็วและเปลี่ยนไปใช้เกียร์ที่สูงขึ้น เพื่อลดแรงบิดของล้อ ป้องกันการลื่นไถลและช่วยให้ดอกยางเกาะพื้นดียิ่งขึ้น หลังลุยน้ำ เมื่อออกมาจากบริเวณที่มีน้ำท่วมขังได้แล้ว ควรกำจัดน้ำออกจากชิ้นส่วนที่มีน้ำซึมเข้าไป โดยบริเวณที่ควรดูแลมากที่สุดคือ ไดสตาร์ท ให้ทำความสะอาดโดยดับเครื่องยนต์แล้วสตาร์ทประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อรีดน้ำออกหรือใช้วิธีดึงสายคอยล์ออกก่อนสตาร์ท เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ติดแล้วสตาร์ทเครื่องเป็นช่วงๆละไม่เกิน 5 วินาที ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าเกียร์หลังขับรถลุยน้ำท่วม แสดงว่ามีน้ำเข้าไปในชุดคลัทช์ ให้แก้ไขโดยเข้าเกียร์ค้างไว้แล้วสตาร์ทใหม่ทันที หากไม่ได้ผลให้เข็นลงจากที่สูงแล้วค้างเกียร์ไว้ แรงกระชากจะทำให้ชุดคลัทช์หายเป็นปกติ นอกจากนี้ควรตรวจสอบน้ำมันเบรก กระบอกลูกสูบ ลูกยาง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากรถเสียหรือเครื่องยนต์มีปัญหาขัดข้องในถนนที่มีน้ำท่วมสูง ควรเปิดไฟกระพริบเพื่อให้สัญญาณเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นได้ทราบว่ามีรถจอดเสียจะได้หักหลบหรือเปลี่ยนเส้นทางได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ