ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางกลยุทธ์ ปี 2554 เตรียมรับการแข่งขันหลังการปฏิรูป

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 8, 2010 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ตลท. ตลาดหลักทรัพย์ฯ วาง 4 กลยุทธ์หลักปี 2554 ขยายฐานธุรกิจ เพิ่มคุณภาพบริการ เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อเตรียมรับการแข่งขันหลังการปฏิรูป และให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นทางเลือกแรกที่ธุรกิจไทย ใช้เป็นช่องทางระดมทุน และตอบโจทย์ผู้ลงทุนทุกกลุ่ม คาดแผนกลยุทธ์ ปี 2554 จะเพิ่มมูลค่าตลาดจากบริษัทจดทะเบียนใหม่อีกแสนล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติแผนงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2554 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยปี 2554 ถือเป็นปีสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการแข่งขันแบบเปิด ภายหลังจากการปฎิรูปตลาดหลักทรัพย์ (Demutualization) ซึ่งจะมีผู้ทำธุรกิจรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ทั้งงานด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ การชำระราคา การรับฝากหลักทรัพย์ และงานด้านนายทะเบียนหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ขยายโอกาสการทำธุรกิจ และสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์และเครือข่ายผู้ลงทุนต่างประเทศ สำหรับกลยุทธ์สำคัญ 4 ด้านของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2554 ได้แก่ 1) การขยายขอบเขตธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Expand Coverage) 2) การเพิ่มคุณค่าและคุณภาพบริการ (Enhance Value) 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Increase Efficiency) และ 4) การเพิ่มขีดความสามารถของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Improve Capability) “ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขยายขอบเขตธุรกิจด้วยการเน้นเพิ่มสินค้า ฐานผู้ลงทุน และช่องทางที่หลากหลาย โดยในปี 2554 จะเพิ่มสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า (Oil Futures) รวมทั้งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงิน (Silver Futures) และเพิ่ม Exchange Traded Funds (ETFs) และใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ (Transferable Custody Receipt) ขณะที่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) จากบริษัทจดทะเบียนใหม่อีก 100,000 ล้านบาท โดยเน้นธุรกิจเป้าหมายใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มประกัน กลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มพลังงานและพลังงานทดแทน” นายจรัมพรกล่าว นอกจากนี้ จะเจาะกลุ่มผู้ลงทุนกลุ่มใหม่ ๆ โดยทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มผู้ลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ตจากฐานลูกค้าธนาคารที่ใช้ Internet Banking นอกจากนี้ จะขยายขอบเขตบริการหลังการซื้อขาย โดยเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกปัจจุบัน สามารถชำระราคาแทนสมาชิกอื่นได้ รวมทั้งเข้าเป็นสมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อรองรับการชำระราคาหลักทรัพย์ต่างประเทศตามโครงการเชื่อมโยงตลาดหุ้นอาเซียน (ASEAN Linkage) และการจดทะเบียนควบสองตลาด (Dual Listing) นายจรัมพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเน้นเพิ่มคุณค่าและคุณภาพบริการ (Enhance Value) ให้กับบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และผู้ลงทุน รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่องของสินค้าเดิม และส่งเสริมการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ลงทุนบุคคลทั้งที่ลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ตและผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด ผู้ลงทุนต่างชาติ และผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ รวมทั้งจะเพิ่มการลงทุนจากผู้ลงทุนสถาบันในจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากกฎเกณฑ์ในประเทศดังกล่าวเอื้ออำนวยมากขึ้น นอกจากนี้ จะขยายเวลาการซื้อขาย Gold Futures ในตลาดอนุพันธ์ให้คาบเกี่ยวกับเวลาซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนและลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาในช่วงปิดตลาด สำหรับกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Increase Efficiency) จะรวมถึงการปรับปรุงแนวทางการลงทุนผ่าน NVDR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้ลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การบริหารความเสี่ยงของสำนักหักบัญชี การจัดโครงสร้างกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม รวมไปถึง การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน เพื่อลดภาระให้แก่บริษัทจดทะเบียน นายจรัมพร กล่าวว่า “กลยุทธ์ที่สำคัญอีกกลยุทธ์หนึ่ง คือการเพิ่มขีดความสามารถของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Improve Capability) โดยจะมีการเดินหน้าพัฒนาระบบเทคโนโลยีตามแผน IT Master Plan ซึ่งจะเป็นแผนงานสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของระบบซื้อขายและระบบบริการหลังการซื้อขาย เพื่อให้การออกสินค้าใหม่ การปรับปรุงบริการทำได้รวดเร็ว และเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานระบบงานของตลาดหุ้นไทยก้าวสู่ระดับโลกอีกด้วย สำหรับกลุ่มงานพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) ซึ่งจะถูกโอนไปจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุนภายหลังจากการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ในปี 2554 จะเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยจะปรับบทบาทให้กว้างขึ้นเพื่อครอบคลุมตลาดทุนทั้งระบบ ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำ CMDF Roadmap ที่ครอบคลุมงานด้านต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานทางการ และสมาคมที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน จะแบ่งบทบาทที่ชัดเจนกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (Self Regulatory Organization หรือ SRO) ในปี 2554 CMDF จะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรของทั้งบริษัทหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สามารถให้คำแนะนำและบริการผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนาทักษะการวางแผนทางการเงินและการลงทุนให้กับผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ จะยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มที่มีระดับการกำกับดูแลกิจการในระดับดี ให้เป็นระดับดีมากและดีเลิศ และสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักการไปปฏิบัติจริง รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนใช้ประโยชน์จากงานด้านผู้ลงทุนสัมพันธ์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานของตลาดทุนโดยรวมให้มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ “ปี 2554 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อเตรียมการสำหรับการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ทั้ง 4 ด้าน จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นช่องทางหลักที่ตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศให้กับทั้งผู้ลงทุนและบริษัทที่ต้องการระดมทุน และเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่แข่งขันได้กับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค การปฏิรูปตลาดหลัก ทรัพย์ฯ จะดำเนินไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในที่สุดจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยและความอยู่ดีกินดีของประชาชนไทยโดยรวม” นายจรัมพรกล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ