กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สปส.
ปี 2550 นี้ สำนักงานประกันสังคมได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม จากการเหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลเป็นการเหมาจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนโดยตรง ซึ่งเป็นการปรับให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกันตน กล่าวคือในปี 2550 นี้ผู้ประกันตนสามารถถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผู้ประกันตนมีสิทธิรับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 250 บาท/ครั้งและไม่เกิน 500 บาท/ปี ส่วนกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก ผู้ประกันตนมีสิทธิ ได้รับค่าบริการฯ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลา 5 ปี โดย 1-5 ซี่ ในวงเงินไม่เกิน1,200 บาท และมากกว่า 5 ซี่ ในวงเงินไม่เกิน 1,400 บาท
ทันตกรรมเป็น 1 ใน 15 รายการ ที่ยกเว้นการให้ความคุ้มครองของประกันสังคมมาตั้งแต่เริ่มเก็บเงินสมทบปี 2534 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม ไม่ได้มีการเพิ่มอัตราเงินสมทบจากเดิมที่คำนวณไว้เพียงร้อยละ 1.5 สำหรับการคุ้มครองให้สิทธิประโยชน์ 4 กรณี ความจำเป็นพื้นฐาน คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และคลอดบุตร เหตุเพราะการดูแลปากฟันของคนไทยน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม จึงให้ข้อเสนอเพื่อขอผ่อนปรน กรณีโรคยกเว้น (ใช้สิทธิประกันสังคมไม่ได้) เฉพาะการดูแลเรื่องทันตกรรม ให้ผู้ประกันตนสามารถ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน โดยให้เบิกครั้งละไม่เกิน 200 บาท ปีละ ไม่เกิน 400 บาท ที่ต้องเป็นครั้งละ 200 บาท ก็เพื่อจูงใจให้ผู้ประกันตนไปพบทันตแพทย์ตามหลักเกณฑ์คือ ไปตรวจฟันทุก 6 เดือน ซึ่งนั่นเป็นรูปแบบการจ่ายสิทธิประโยชน์แบบเดิมก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบสิทธิประโยชน์แบบเหมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลในปี 2549 ที่ผ่านมา
หลายเสียงจากผู้ประกันตนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดในปี 2550 นี้ สำนักงานประกันสังคมจึงให้ค่ารักษาฟันแก่ผู้ประกันตนได้เพียง250บาท/ครั้ง และไม่เกิน 500 บาท /ปี เหตุผลหลักก็คือเรื่องเสถียรภาพของกองทุน นอกจากนั้นสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมนั้นไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ 7 กรณีที่สปส.ให้ความคุ้มครองและถือเป็นของแถมที่ระบบประกันสังคมมอบให้แก่ผู้ประกันตนก้าวล้ำนำหน้าประเทศอื่นๆ
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า “จริงๆแล้วสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมเรียกได้ว่าเป็นของแถมจากสิทธิประโยชน์ ทั้ง 7 กรณี ที่สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ผู้ประกันตนต้องร่วมจ่าย ที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเราให้เท่านี้ เพราะเราคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนฯ ในระยะยาว ทันตกรรมไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์พื้นฐาน 7 กรณี แต่ที่สปส.ให้เพราะเห็นว่าเป็นความต้องการของผู้ประกันตนจริงๆ ในต่างประเทศเองยังก็ไม่มีประเทศไหนให้ บางประเทศมีการตั้งกองทุนทันตกรรมแยกมาจากกรณีเจ็บป่วยซึ่งก็ต้องคำนวณจากการเก็บเงินสมทบกรณีทันตกรรมต่างหาก การที่สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมให้แก่ผู้ประกันตนในอัตราดังกล่าวในปี 2550 นี้ เมื่อคำนวณแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของกองทุนในอนาคต”
ทางด้านนักวิชาการด้านการประกันสังคมเองก็ได้แสดงทัศนะต่อสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมไว้ดังนี้
อ.ปณิธิ ศิริเขต อาจารย์พิเศษวิชาประกันสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการแรงงาน กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า “จริงๆแล้วสิทธิประโยชน์กรณี
ทันตกรรมต้องจ่ายเงินสมทบต่างหาก แต่เดิมที่ประกันสังคมให้ได้เพราะถือเป็นกรณีเจ็บป่วย เช่น เหงือกบวม ปวดฟันมากซึ่งถือเป็นกรณีเจ็บป่วยหรือฉุกเฉิน เป็นการให้การรักษาฟันขั้นพื้นฐานเท่านั้น “
“จึงเป็นผลให้สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของประเทศไทยผนวกไว้กับกรณีเจ็บป่วยซึ่งเรียกได้ว่า ได้เกินกว่าหลักเกณฑ์ที่นานาประเทศปฏิบัติคือ ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม ในภาวะปกติการดูแลปากและฟันนั้น เป็นเรื่องที่มีวงจรในการรักษาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย การจะรักษาแบบครบวงจรได้ต้องจ่ายเงินสมทบแยกต่างหากดูแลเป็นกรณีทันตกรรมโดยเฉพาะ บางประเทศครอบคลุมทั้งครอบครัว เช่นบุตรซึ่งอยู่ในวัยที่สมควรได้รับการดูแลรักษาฟัน เมื่อบิดามารดาจ่ายเงินสมทบ บุตรก็ใช้สิทธิได้เพราะการรักษาฟันตั้งแต่เด็กเป็นปัจจัยทำให้ประชากรมีสุขภาพฟันดี ดังนั้นผู้ประกันตนไทยจึงถือว่าได้สิทธิ ทันตกรรมเป็นของแถมโดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มและสมควรเข้าใจว่าส่วนที่เกินนั้นผู้ประกันตนต้องร่วมจ่าย”
ซึ่งในเรื่องเดียวกันนี้ ทันตแพทย์ไพศาล กังวลกิจ เลขาธิการทันตแพทยสภา ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า
” ในเรื่องสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะคนไทยมีปัญหาสุขภาพในช่องปากสูง สปส.ให้สิทธิมาตั้งแต่ปี 2540 สำหรับสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมที่สปส.ได้ปรับรูปแบบการจ่ายสิทธิประโยชน์ในปี 2550 นี้ ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการมากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ดี”
สำหรับแนวปฏิบัติของผู้ประกันตนในการใช้สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมในปี 2550 นี้ผู้ประกันตนสามารถเลือกโรงพยาบาล และรับบริการที่ใดก็ได้ตามสะดวก แล้วนำเอกสารหลักฐาน คือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16) พร้อมใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน และสำเนาสมุดบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี โดยมีธนาคารจำนวน 8 แห่ง พร้อมให้บริการ ดังนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยนำเอกสารเหล่านี้มายื่นเรื่องขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม ได้ที่ สปส.เขตพื้นที่/จังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิดังกล่าวตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป
ผู้ประกันตนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดทุกแห่ง ท้ายสุดนี้ขอฝากข้อคิดไว้ว่า เรื่องสุขภาพในช่องปากเป็นเรื่องที่ต้องสนใจดูแลตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ของแถมที่ให้มาเปรียบเสมือนตัวช่วย ตัวจริงคงต้องเป็นเจ้าของปากและฟันเองที่ต้องเอาใจใส่ให้ดี ปากหอม ฟันสะอาด เป็นเสน่ห์เฉพาะบุคคล..ต้องร่วมกัน ช่วยกันดูแล..!