กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2553 รุกคืบแผนฟื้นฟู รฟท. ขสมก. อย่างเป็นรูปธรรม และผลักดันรัฐวิสาหกิจใช้ภาวะบาทแข็งช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ณ ทำเนียบ ว่า สคร. ในฐานะเลขานุการฯ ได้ผลักดันวาระต่างๆ เข้าที่ประชุม เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน พร้อมนำเสนอแนวทางที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่ประชุม กนร. ได้มีมติดังนี้
1. ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 1,251.159 ล้านบาท จากที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนสำหรับบริการสาธารณะจำนวน 1,578.769 ล้านบาท โดยให้รับข้อสังเกตุของสำนักงบประมาณ ในการพิจารณาปรับลดวงเงินหากวงเงินบางส่วนซ้ำซ้อนกับวงเงินอุดหนุนของภาครัฐในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน (โครงการรถเมล์ฟรี)
2. ให้การประปาส่วนภูมิภาคได้รับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 382.531ล้านบาท จากที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนสำหรับบริการสาธารณะจำนวน 1,356.618 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนสมมุติฐานการขอรับเงินอุดหนุนจากกลุ่มผู้ใช้น้ำและปรับปรุงหลักการการคำนวณวงเงินการขอรับการอุดหนุน
3. เพื่อให้การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงได้มีมติให้แต่งตั้งกรรมการเพิ่มในคณะกรรมการติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้งให้เร่งดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของ รฟท. และแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
4. ในเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการโดยมีหน้าที่ในการศึกษาบทบาทของ ขสมก.อย่างเป็น มหภาคในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งหรือ feeder ของระบบขนส่งมวลชน (mass transit) ในกรุงเทพในภาพรวม ที่จะมีระบบขนส่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้นอีกมากมายเช่น รถไฟฟ้า การต่อขยายเส้นทางต่างๆ อันเป็นการศึกษาคู่ขนานกับ บาทบาทของ ขสมก.ในฐานะที่เป็นระบบขนส่งแยกต่างหากไม่มีความเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธาน
ในส่วนของผลการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2553 รัฐวิสาหกิจได้รับอนุมัติงบลงทุนทั้งสิ้น 240,523 ล้านบาท โดย ณ เดือนกันยายน รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 121,199 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 50.39 ของวงเงินอนุมัติทั้งหมด) และสูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายประมาณ 49,175 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีเป็นปีปฏิทินอีก 11 แห่ง ซึ่งจะเหลือระยะเวลาการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2553) โดยปกติรัฐวิสาหกิจในกลุ่มปีปฏิทินจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ประมาณร้อยละ 90 ของงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2553 รัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 194,359 ล้านบาท หรือร้อยละ 81 ของงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ
นอกจากนั้น ยังได้ผลักดันให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศ (Import content) ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่งจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง นับได้ว่าเป็นผลดีต่อรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถประหยัดงบประมาณจาการลงทุนได้อย่างมหาศาล สคร. จึงได้เดินสายพบรัฐวิสาหกิจพร้อมทั้งได้มีหนังสือแจ้งไปยังรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในส่วนของ Import content เนื่องจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้มีงบลงทุนในส่วนของ Import content สูง หากรัฐวิสาหกิจสามารถเร่งการเบิกจ่ายลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 และปี 2554 ให้ทันในช่วงที่ค่าเงินบาทที่ 30 บาทต่อดอลล่าร์ จะส่งประหยัดงบประมาณได้ทั้งสิ้นกว่า 13,626.14 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.56 ของงบลงทุนในส่วนของ Import content ทั้งหมด มากไปกว่านั้น หากรัฐวิสาหกิจสามารถเร่งการเบิกจ่ายลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 และปี 2554 ให้ทันในช่วงที่ค่าเงินบาทที่ 29 บาทต่อดอลล่าร์ จะส่งประหยัดงบประมาณได้ทั้งสิ้นกว่า 18,505.68 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.62 ของงบลงทุนในส่วนของ Import content ทั้งหมด นอกจากนั้น สคร. จะดำเนินการร่วมสำนักงบประมาณปรับสมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในส่วนของ Import content ที่ใช้เงินงบประมาณของรัฐวิสาหกิจใหม่ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 29 — 31 บาทต่อดอลล่าร์ คาดว่า รัฐวิสาหกิจจะสามารถช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณได้เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สคร. จะถ่ายทอดแนวนโยบายจากมติที่ประชุมไปยังผู้บริหารรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเพื่อจะได้สามารถนำไปวางแผนและกำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดย สคร.จะประสานกับรัฐวิสาหกิจเพื่อติดตาม วิเคราะห์ และร่วมแก้ไขปัญหา ตลอดจนสนับสนุนการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นความโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก