กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--กทม.
กรุงเทพมหานครสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แม่น้ำ ลำคลอง โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนกรุงเทพฯ เร่งโครงการฟื้นฟู อนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา โดยดึงชาวกรุงและทุกภาคส่วนร่วมผลักดันสู่ความสำเร็จสมดั่งพระราชประสงค์
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และผู้เกี่ยวข้องตรวจเยี่ยมสถานีตรวจคุณภาพน้ำบางซื่อ เขตบางซื่อ บริเวณใต้สะพานพระราม 6
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมว่า กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น 7 สถานี และสถานีตรวจสอบคุณภาพ น้ำบางซื่อซึ่งนับเป็นจุดตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจุดแรกก่อนที่น้ำจะไหลผ่านกรุงเทพฯ ลงสู่อ่าวไทย สำหรับการตรวจสอบค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ที่สถานตรวจคุณภาพน้ำบางซื่อวันนี้เท่ากับ 3.18 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 2 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยค่า DO จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน อาทิ ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูเจ้าพระยา โดยแบ่งคณะทำงานเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงบำบัดน้ำเสียทั้งสิ้น 7 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 992,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีโครงการก่อสร้างเพิ่มเติม 3 แห่ง คือ ที่บางซื่อ คลองเตย และฝั่งธนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวน การศึกษา นอกจากนี้ยังมีโครงการต่อเนื่อง ได้แก่ ปี 48 จัดทำโครงการ 10 คลองใส ปี 49 จัดทำโครงการ 60 คลองใสเฉลิมพระเกียรติทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี และปี 2550 นี้กำลังดำเนินโครงการ 80 คลองใสเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยดำเนินการในคลองหลักที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา และการติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา 80 เครื่องในแหล่งน้ำสำคัญ ต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพน้ำ 2. กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีประชากร ชุมชน สถานประกอบการ โรงงานจำนวนมาก การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจึงนับเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้การดำเนินงานฟื้นฟูอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคูคลองต่างๆ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รณรงค์ให้ช่วยกันดูแลรักษาคูคลอง และแม่น้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการฟื้นฟูคลองแสนแสบโดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานครกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และชุมชนริมคลอง
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครกำลังจะดำเนินโครงการรักษ์เจ้าพระยา ซึ่งจะเปิดตัวโครงการประมาณไม่เกินปลายเดือนสิงหาคมนี้ และในอนาคตจะผลักดันให้มีการจัดตั้งมูลนิธิเรารักษ์เจ้าพระยา เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกและหลากหลาย 3. การปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น การปรับปรุงป้อมพระสุเมรุ สวนสันติชัยประการ สวนสาธารณะพระราม 8 การก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำจากป้อมพระสุเมรุ สวนสันติชัยปราการ ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และบริเวณวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (ใกล้สะพานพุทธ) และปีนี้จะจัดสร้างสวนสาธารณะท่าเตียน (บริเวณกรมการค้าภายในเก่า) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 51 บริเวณสวนสาธารณะสะพานพระราม 8 และ 4. ด้านกฎหมาย ข้อบัญญัติ และระเบียบต่างๆ ได้มีการออกกฎกระทรวงใช้บังคับร่วมกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครเมื่อปี 49 โดยกำหนดให้มีพื้นที่ว่างริมแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 60 เมตร นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามก่อสร้างอาคารบางประเภทริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกำหนดว่าระยะไม่เกิน 3 เมตรจากริมแม่น้ำก่อสร้างได้เฉพาะสาธารณูปโภค ระยะ 3-15 เมตร ก่อสร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 8 เมตร ระยะ 15-45 เมตร ก่อสร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 16 เมตร เพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคาร สิ่งบดบังทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา
อย่างไรก็ดีกรุงเทพมหานครจะเร่งผลักดันการดำเนินงานต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รัฐบาล และประชาชน เพื่อสานต่อการดำเนินงานฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์แม่น้ำ ลำคลอง ธรรมชาติ และวิถีชีวิตดังเดิมของชาวกรุงเทพฯ โดยเร็ว