กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง ปฏิรูประบบวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ก้าวต่อไปของการปฏิรูประบบวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา ๒
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงปัญหาของการวิจัยซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ เรื่อง คือ ในเชิงปริมาณ ได้แก่การขาดแคลนบุคลากร งบประมาณ และปัญหาที่ควบคู่กันไปคือ ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยในภาคเอกชนมากขึ้น ให้ภาคเอกชนสนใจเพราะเอกชนจะทำวิจัยจะต้องมีผลตอบแทนในเชิงธุรกิจและพาณิชย์ และในเชิงคุณภาพที่ต้องมีการเชื่อมโยงในเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เนื่องจากในแต่ละปีมีงานวิจัยออกมาจำนวนมากแต่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในส่วนของงานวิจัยพื้นฐานที่อาจถูกมองข้ามก็สามารถนำมาต่อยอดให้เกิดให้งานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึง เรื่องของการปฏิรูประบบวิจัยว่า รัฐบาลมุ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้เอกชนตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางด้านงานวิจัย และรัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนักวิจัยและงานวิจัย ผลักดันให้นักวิจัยของภาครัฐไปทำงานร่วมกับเอกชน ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการพิจารณาในเรื่องของแรงจูงใจอื่นๆ ร่วมด้วย รวมทั้งจะต้องมีการจัดตั้งโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นไป
ภายในงานได้จัดให้มีการอภิปราย เรื่อง “แนวทางและขั้นตอนการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ” ซึ่ง ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรร่วม กล่าวถึง การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าการปฏิรูประบบการวิจัยของประเทศ ที่ วช. เองจะต้องร่วมมือกันกับหน่วยงานอื่นๆ กำหนดนโยบายภาพรวมหรือเป้าหมายที่พัฒนาทั้งทางด้าน บุคลากร โครงสร้างการวิจัย วิธีการดำเนินงาน และแผนการวิจัย ในส่วนนี้สภาวิจัย หรือ วช. จะต้องมีการประสานงานกัน กำหนดแผนงานที่จะต้องมีผู้รับผิดชอบชัดเจน
เลขาฯ วช. ให้ทัศนะว่า วช. ควรจะทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรวิจัยว่า หน่วยงานใดควรจะทำหน้าที่อะไร มีแผนงานที่มีหน่วยงานรับผิดชอบ และชี้แจ้งว่าทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมควรจะทำอะไร ทั้งอยากเห็นแผนที่ออกมาจากหน่วยงานต่างๆ ให้มีความสอดคล้องและชัดเจน ซึ่ง วช. จะเริ่มปรับบทบาท วางแผนกำหนดหน้าที่เชิงนโยบาย และเรื่องข้อมูล ให้มีการต่อเนื่องเชื่อมโยงไปในภาคเอกชน ต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคลากรการวิจัย การตั้งมาตรฐานต่างๆ ในเรื่องของการวิจัย รวมถึงมีการประเมินคุณค่าของงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ เลขาฯ วช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าจะให้มีการปฏิรูประบบวิจัยอย่างยั่งยืนนั้นควรกำหนดให้มีการจัดตั้ง พรบ. การวิจัยแห่งชาติขึ้น เพื่อจะทำให้แนวทางและขั้นตอนที่คิดไว้นั้นได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง และสามารถนำงานวิจัยมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป