กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 14/2553 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2553 อนุญาตให้อีทีเอฟต่างประเทศ (foreign ETF) ที่มีคุณสมบัติตามที่ประกาศกำหนด เสนอขายต่อประชาชนในประเทศไทยได้โดยตรง เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ส่งเสริมให้ตลาดทุนมีสินค้าที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย ทัดเทียมกับตลาดทุนในภูมิภาค
โดยหน่วยอีทีเอฟต่างประเทศต้องมีลักษณะไม่ซับซ้อนและมีผลตอบแทนอ้างอิงโดยตรงกับดัชนีหลักทรัพย์หรือดัชนีราคาสินค้าที่แพร่หลายเท่านั้น เช่น ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ดัชนีราคาน้ำมัน ทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ และมีการบริหารในลักษณะเชิงรับ (passive management) เช่น มีนโยบายมุ่งเน้นให้ได้ผลตอบแทนเทียบเท่าดัชนีอ้างอิง
นอกจากนี้ หน่วยอีทีเอฟต่างประเทศดังกล่าวต้องมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หลัก (home exchange) ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges :WFE) โดยหน่วยอีทีเอฟต่างประเทศและบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารจัดการอีทีเอฟต่างประเทศนั้น ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกขององค์กร ก.ล.ต. โลก (International Organization of Securities Commissions : IOSCO) รวมถึงมีตัวแทนในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการจัดส่งข้อมูลให้แก่ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ลงทุนด้วย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การอนุญาตให้มีการเสนอขายอีทีเอฟต่างประเทศต่อผู้ลงทุนไทยครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรง นอกเหนือจากการลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟที่บริษัทจัดการไทยจัดตั้งขึ้นในไทยแล้วนำเงินไปลงทุนในอีทีเอฟต่างประเทศ ซึ่งพัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเชื่อมโยงกับตลาดทุนต่างประเทศ โดย ก.ล.ต. มีนโยบายที่จะให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเริ่มจากหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่มากก่อน เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมีเวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนที่จะมีการเปิดเสรีและการเชื่อมโยงกับตลาดทุนต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต”