กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กระทรวงการต่างประเทศ
สหรัฐฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีกับไทยในลักษณะเป็นเจ้าของร่วมกัน (Co-ownership) โดยตกลงจะแลกเปลี่ยนข้อมูล ฝึกอบรมนักวิจัย ตลอดจนร่วมกันวิจัยและพัฒนาโครงการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งจะพิจารณาแบ่งปันผลประโยชน์จากการวิจัยอย่างเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย — สหรัฐฯ เปิดเผยถึงผลการเจรจาในวันที่สอง (27 ก.ย. 48) จากทั้งหมด 5 วัน ว่า การหารือข้อตกลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งสองฝ่ายหารือเรื่องความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในลักษณะของการเป็นเจ้าของร่วมกัน (Co-ownership) ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การฝึกอบรมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทย ตลอดจนการทำโครงการวิจัยร่วมกัน โดยไทยและสหรัฐฯ จะพิจารณาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัยอย่างเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
“ การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ไม่ได้พูดกันแต่เรื่องการค้าเท่านั้น ยังก่อให้เกิดความร่วมมือกันด้วย ซึ่งในแง่ของการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทยจะเป็นฝ่ายที่ได้รับประโยชน์อย่างมาก “ นายนิตย์กล่าว
ทั้งนี้ ข้อตกลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นข้อเสนอจากประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่ยื่นเสนอเรื่องดังกล่าวภายใต้การทำเอฟทีเอสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ยังไม่เคยมีข้อตกลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ได้ทำเอฟทีเอไปแล้ว
สำหรับหัวข้อที่ไทยเสนอให้มีการร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาในขั้นนี้มีทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบด้วย Space technology and Geo — informatics ซึ่งจะครอบคลุมถึงการวิจัยเชิงภูมิศาสตร์เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ เช่นแผ่นดินไหว หรือคลื่นสึนามิ นอกจากนี้ก็มีเรื่อง Biotechnology, Nanotechnology, Renewable Energy, และ Life Sciences--จบ--