วช. โชว์ผลงานวิจัยชุดตรวจสำเร็จรูป...ได้ผลรวดเร็วและแม่นยำ

ข่าวทั่วไป Thursday November 11, 2010 10:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยโรคข้อเสื่อม เพื่อใช้หาแนวทางรักษาที่แต่ละปีพบคนไทยเป็นโรคนี้กว่า 7 ล้านคน พร้อมเปิดตัวชุดตรวจหาเชื้อแอนติบอดีชนิด antifilarial lgG4 ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยเป็นครั้งแรก ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าปัจจุบันเชื้อโรคต่าง ๆ มีการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว และเชื้อโรคบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงขยายพันธุ์ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ วินิจฉัย อย่างทันท่วงที โดยในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาดูแลประชาชน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้นการพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาโรคนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อให้การวินิจฉัยโรคทำได้อย่างรวดเร็ว และได้ผลอย่างแม่นยำ วช. จึงได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำโครงการวิจัยเรื่องการวิจัยและพัฒนาพื้นฐานประยุกต์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคข้อเสื่อม โรคตับ และโรคมะเร็ง สนับสนุน ศ.นพ.ดร.สมชาย จงวุฒิเวศย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโครงการวิจัยเรื่อง ระบาดวิทยาเชิงบูรณาการเพื่อเป็นแนวทางการควบคุมโรคมาลาเรียนในประเทศไทย และให้ทุนสนับสนุน นพ.วิชัย สติมัย จากกระทรวงสาธารณสุข และรศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจสำเร็จรูป เพื่อใช้ตรวจหาเชื้อแอนติบอดีชนิด antifilarial lgG4 เพื่อการวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูป งานวิจัยในครั้งนี้ได้พัฒนาขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโรค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ชุดตรวจสอบใหม่จะใช้เวลาในการตรวจหาเชื้อคนไข้และรู้ผลใช้เวลาน้อยกว่า 5 นาที ซึ่งจะดีกว่าแบบเดิมที่ใช้วิธีการย้อมฟิล์มเลือดที่การตรวจผู้ป่วยแต่ละรายต้องใช้เวลา ตรวจและรู้ผลในเวลา 30 นาที ชุดตรวจหาเชื้อแอนติบอดีชนิด antifilarial lgG4 นอกจากช่วยให้การรักษาสัมฤทธิ์ผลทันต่อโรคแล้ว ยังสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคและเชื้อก่อโรคได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคุณสมบัติของชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อใช้ตรวจหาเชื้อแอนติบอดีชนิด antifilarial lgG4 นี้ ศ.นพ.สุทธิพรฯ กล่าวว่า นอกจากจุดเด่นจะอยู่ที่ทำให้ได้ผลการตรวจโรคอย่างรวดเร็วและแม่นยำแล้ว ยังมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง อนาคตคาดว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการสูญเสียงบประมาณในการสั่งชุดตรวจสอบดังกล่าว ที่ไทยเราต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ในวงการแพทย์แต่ละปีมีมูลค่านับล้าน ๆ บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025799775 ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ