กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--TRIS Rating
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาทของ บริษัท
ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนฐานะการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการปรับปรุงเงื่อนไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 3 โดยมีการขยายอายุสัมปทานออกไปและมีการกำหนดขั้นตอนและโครงสร้างการปรับราคาค่าผ่านทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีผลงานที่ยาวนาน การมีทำเลที่ตั้งของทางด่วนที่อยู่ในจุดสำคัญ และผู้บริหารที่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของปริมาณการจราจรที่เป็นมาตั้งแต่ในอดีตเนื่องจากทางด่วนของบริษัทเป็นทางด่วนเดี่ยวที่ต้องแข่งขันโดยตรงกับถนนปกติ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการจราจรของภาครัฐและการมีสัดส่วนเงินกู้ในระดับสูงของบริษัทยังเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตด้วย บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ธนาคารจำนวนประมาณ 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากเงินกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันโดยสินทรัพย์ของบริษัท ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการชำระหนี้เงินกู้ธนาคารและการปลดภาระค้ำประกันจากเงินกู้เดิม
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัทจะไม่ต่ำไปกว่าปริมาณในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญไปจนตลอดอายุของสัมปทาน นอกจากนี้ การจ่ายเงินปันผลและการลงทุนในอนาคตควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททางยกระดับดอนเมืองเป็นผู้ก่อสร้างและให้บริการทางด่วนยกระดับระยะทาง 21 กิโลเมตรเส้นทางจากดินแดงถึงอนุสรณ์สถานภายใต้สัญญาสัมปทานในระบบ BTO (Build-Transfer-Operate) อายุ 25 ปีโดยได้รับอนุมัติจากกรมทางหลวง ทางด่วนของบริษัทเป็นทางยกระดับ 6 ช่องการจราจรเหนือถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ โครงการส่วนเริ่มต้น (ดินแดง-ดอนเมือง) โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน) และโครงการส่วนต่อขยายด้านรังสิต (อนุสรณ์สถาน-รังสิต) โดยบริษัทได้รับสัมปทานในการให้บริการ สำหรับ 2 โครงการแรก ส่วนโครงการส่วนต่อขยายด้านรังสิตซึ่งได้รับการยกเว้นค่าผ่านทางนั้นให้บริการโดยกรมทางหลวง ระบบทางด่วนดังกล่าวช่วยลดปัญหาการจราจรที่แออัดบนถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมระหว่างใจกลางกรุงเทพฯ กับท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ (ท่าอากาศยายดอนเมือง) และจังหวัดอื่น ๆ ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นับตั้งแต่เริ่มให้บริการในช่วงปลายปี 2537 บริษัททางยกระดับดอนเมืองเผชิญกับความเสี่ยงจากหลายเหตุการณ์ เช่น วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 การขยายและเพิ่มช่องจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตและการก่อสร้างถนนสายย่อย (Local Road) ในปี 2541 การเปิดให้บริการทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ในปี 2542 และการย้ายท่าอากาศยานดอนเมืองในปี 2549 เมื่อผนวกวิกฤตการณ์การเงินในช่วงกลางปี 2540 กับการเปลี่ยนระบบจัดการการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตและการให้บริการทางพิเศษอุดรรัถยาแล้วส่งผลทำให้ปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัทลดลง 60% จากปริมาณการจราจรเฉลี่ย 125,996 คันต่อวันในปี 2540 เป็น 50,915 คันต่อวันในปี 2542 หลังจากนั้นปริมาณการจราจรก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวสู่ระดับเฉลี่ยที่ 92,581 คันต่อวันในปี 2547 เนื่องจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ปริมาณการจราจรเฉลี่ยของบริษัทในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากที่ 50% สู่ระดับ 139,166 คันต่อวันเนื่องจากผลของการลดราคาค่าผ่านทางจาก 20-43 บาทต่อคันเป็นอัตราคงที่ที่ 20 บาทต่อคัน อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี 2549 และการเพิ่มอัตราค่าผ่านทางในปี 2549 และปี 2550 ส่งผลให้ปริมาณการจราจรเฉลี่ยปรับลดลง 12% ในปี 2549 17% ในปี 2550 และ 23% ในปี 2551
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าการจราจรบนทางด่วนของบริษัททางยกระดับดอนเมืองจะมีความผันผวน แต่บริษัทก็ได้รับประโยชน์จากการมีสัญญาสัมปทานที่เอื้ออำนวย โดยสัญญาสัมปทานกำหนดให้กรมทางหลวงทำการเจรจากับบริษัทเพื่อเยียวยาผลกระทบด้านลบที่มีต่อฐานะการเงินของบริษัทอันเกิดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้แก่ เหตุสุดวิสัย การกระทำหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการที่ส่งผลให้ปริมาณ
การจราจรบนทางด่วนลดลง เป็นต้น บริษัทมีการปรับปรุงเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานถึง 3 ครั้ง การปรับปรุงล่าสุดกระทำในปี 2550 โดยบริษัท ได้รับการขยายอายุสัญญาสัมปทานเพิ่มต่อไปอีก 27 ปีเริ่มจากเดือนกันยายน 2550 และได้รับการอนุมัติในเบื้องต้นในการกำหนดการปรับราคาค่าผ่านทางตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ดังนั้น บริษัทจึงสามารถเพิ่มค่าผ่านทางได้โดยอัตโนมัติหลังจากแจ้งกรมทางหลวงล่วงหน้า 30 วัน นอกจากนี้ ยังได้รับการยกเลิกส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องส่งให้แก่กรมทางหลวงในช่วง 4 ปีสุดท้ายของสัญญาด้วย
ฐานะการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากการปรับปรุงเงื่อนไขสัญญาสัมปทานในครั้งที่ 3 และการเพิ่มทุนในปี 2550 อัตราค่าผ่านทางที่เพิ่มขึ้น 25 บาท จากระดับ 30 บาท เป็น 55 บาทในปี 2550 และเพิ่มอีก 30 บาทในปี 2552 ส่งผลให้ปริมาณการจราจรเฉลี่ยลดลงจาก 101,070 คันต่อวันในปี 2550 เป็น 78,000-80,000 คันต่อวันในปี 2551-2552 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 956 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 1,303 ล้านบาทในปี 2551 และ 1,366 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ในระดับ 75%-81% และโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 85% ในปี 2549 เป็น 62% ในปี 2550 เนื่องจากมีการจ่ายคืนหนี้จำนวนมากโดยใช้เงินที่ได้จากการขายหุ้นแก่บุคคลในวงจำกัด ปัจจุบันอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคงอยู่ที่ระดับ 55% อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 1.2 เท่าในปี 2548 เป็น 3.4 เท่าในปี 2552 และ 3.1 เท่าสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 1.5% ในปี 2548 เป็น 8.2% ในปี 2552 และอยู่ที่ระดับ 3.8% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553
ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัททางยกระดับดอนเมืองจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในบริเวณทิศเหนือของกรุงเทพฯ และการจราจรที่ติดขัดบนเส้นทางปกติ ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของปริมาณการจราจร รวมทั้งตามการปรับอัตราค่าผ่านทาง และความสามารถของคณะผู้บริหารในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในด้านการวางแผนและก่อสร้างสาธารณูปโภคถนน -- จบ
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (DMT)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)