ตามไปดูเด็ก ม. ต้นตะลุยสนามสอบแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ใช้มาตรฐานการสอบจากเกาหลี ผลักดันความสามารถคณิตเด็กไทยสู่มาตรฐานอินเตอร์

ข่าวทั่วไป Thursday November 11, 2010 12:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สสวท. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสอบประเมินครั้งยิ่งใหญ่ ณ โรงเรียน มัธยมศึกษา จำนวน 148 ศูนย์สอบ ทั่วประเทศกิจกรรมที่กล่าวถึงนี้ คือ การสอบประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)มีนักเรียนเข้าร่วมการสอบประมาณ 59,000 คน โครงการนี้ ได้คัดเลือกข้อสอบจากประเทศเกาหลีใต้ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรคณิตศาสตร์ แล้วนำมาประเมิน ความสามารถรายบุคคลโดยละเอียด “เจาะลึก” เพื่อประเมินความสามารถด้านเนื้อหาเกี่ยวกับจำนวนและการดำเนินการ การวัด พีชคณิต เรขาคณิต การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ประเมินระดับพฤติกรรมการเรียนรู้ ความจำ ความเข้าใจการนำไปใช้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ สงสัยกันหรือไม่ว่า เหตุใดถึงต้องใช้ข้อสอบจากประเทศเกาหลี ? อาจารย์ชมัยพร ตั้งตน หัวหน้าสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. อธิบายว่า อีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกชุมชนอาเซียนแล้ว ทำอย่างไรถึงจะกระตุ้นบรรยากาศทางวิชาการให้เด็กไทยของเรามีความสามารถทางคณิตศาสตร์อยู่ระดับแนวหน้าของอาเซียน ก่อนหน้านี้ สสวท. เคยทดลองใช้แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของของอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษมาแล้ว ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง ต่อมาพบว่า ผลการการสอบประเมินในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสอบ TIMSS PISA พบว่า ผลการประเมินของประเทศเกาหลี ได้คะแนนสูงในทุกสนาม โดยเฉพาะผลการสอบ PISA ซึ่งเป็นการสอบวัดโจทย์ปัญหา เกาหลีก็มาเป็นอันดับ 1 และที่สำคัญเกาหลีมีความเป็นเอเซียเหมือนเรา ทั้งนี้ ระบบการประเมินและวิเคราะห์ผลผู้เรียนเป็นรายบุคคลที่นำมาใช้สอบนั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้ดำเนินการมา เป็นเวลา 11 ปีแล้ว ซึ่ง สสวท. ตั้งใจที่จะให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ และการฝึกแก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปี ค.ศ. 2012 (หรือ พ.ศ. 2555) จะมีการสอบประเมินระดับนานาชติ หรือการสอบ PISA รอบใหม่ที่เน้นคณิตศาสตร์ กิจกรรมนี้จึงคล้ายกับว่าเป็นการสอน PRE PISA เพื่อกระตุ้นบรรยากาศให้มีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์คืออะไร ? สสวท. ได้สอดแทรกเนื้อหาเรื่องการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ในหนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษากันเลยทีเดียว การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ คือการหาคำตอบของปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ถามเป็นเรื่องราวของคน สัตว์สิ่งของ ในสถานการณ์ หรือเงื่อนไขต่าง ๆ โดยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์บางอย่างของสิ่งที่อยู่ในสถานการณ์หรือเงื่อนไข แล้วให้หาบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์หรือเงื่อนไข นั้น ๆ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง สามารถใช้วิธีการแก้โจทย์ได้หลากหลาย เช่น การวาดรูป สมมติตัวแปร การคาดเดาและตรวจสอบ การเขียนกราฟ การสร้างตาราง ฯลฯ องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการแก้โจทย์ปัญหา ได้แก่ องค์ประกอบเกี่ยวกับภาษา ได้แก่ คำและความหมายต่างๆ ใน โจทย์ปัญหา แต่ละข้อว่ามีความหมายอย่างไร คำคำเดียวกันอยู่ต่างสถานการณ์กันอาจมีความหมายต่างกัน องค์ประกอบเกี่ยวกับความเข้าใจ เป็นขั้นตีความและแปลความจากข้อความทั้งหมดของ โจทย์ปัญหา ถ้านักเรียนสามารถแปลความจาก โจทย์ปัญหา เป็นประโยคสัญญลักษณ์ได้ถูกต้อง แสดงว่ามีความเข้าใจและแก้ โจทย์ปัญหา ได้อย่างแน่นอน องค์ประกอบเกี่ยวกับการคิดคำนวณ ขั้นนี้นักเรียนต้องมีทักษะ บวก ลบ คูณ หาร จำนวนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ องค์ประกอบเกี่ยวกับการแสดงวิธีทำ ครูผู้สอนต้องฝึกให้นักเรียนสรุปความจากสิ่งที่ โจทย์ กำหนดให้ทั้งหมดมาเป็นความรู้ใหม่ และ องค์ประกอบในการฝึกทักษะการแก้ โจทย์ปัญหา ได้จากการฝึกทักษะการแก้ โจทย์ปัญหาบ่อย ๆ การแก้โจทย์ปัญหาจำเป็นต่อนักเรียนอย่างไร ? โจทย์ปัญหา เป็นโจทย์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริง เพราะในชีวิตจริงอาจได้พบกับความซับซ้อน เช่น เวลาที่ไปตลาด ต้องเจอข้อมูลมากมาย และต้องเลือกหยิบข้อมูลมากมายเหล่านั้นมาใช้ตัดสินใจหรือแก้ปัญหา การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์เป็นการฝึก “คิดและตัดสินใจ” มากกว่าที่จะเป็นการคำนวณทางตัวเลข เพราะต้องมีการให้เหตุผลประกอบ และเลือกข้อมูลบางตัวมาใช้ ผู้เขียน ได้ตามไปสังเกตการณ์บรรยากาศของการสอบประเมินครั้งนี้ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต อ. คลองหลวง จ. ปทุมธานี ตั้งแต่ก่อนถึงเวลาสอบ พบว่า น้อง ๆ ทั้งที่เป็นนักเรียนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต และโรงเรียนใกล้เคียงอื่น ๆ ได้ทยอยมาลงทะเบียน และ นั่งรอเข้าห้องสอบกันเป็นจำนวนมาก หลายคนที่นั่งอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบกันอย่างขมักเขม้น บ้างก็นั่งพูดคุยกันเกี่ยวกับการสอบครั้งนี้ บรรยากาศในการรอคอย ไม่ค่อยจะซีเรียส น้อง ๆ ไม่เครียดกันเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่า ผลการสอบประเมินครั้งนี้ ไม่ได้นำไปใช้ตัดเกรดแต่อย่างใด ผู้เขียน ได้เข้าไปพูดคุยกับ เด็กหญิงสุรีรัตน์ บุญเลิศ ชั้น ม. 2 โรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่กำลังนั่งอ่านหนังสือรอเข้าเวลาสอบห้อง เล่าให้ฟังว่า การเตรียมตัวก็คือ ฝึกทำการแก้โจทย์ปัญหาก่อนสอบ ตนเองนั้น ชอบเรียนหลายวิชา แต่ที่ถนัดคือวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยแข่งขันเล่าเรื่องเป็นภาษาอังกฤษในระดับเขต ที่เขต 2 จังหวัดปทุมธานีมาแล้ว เหตุที่สนใจเข้าร่วมสอบครั้งนี้ จะได้ประเมินตนเอง และเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อจะไปสอบเข้าเรียนต่อ ชั้น ม. ปลาย โรงเรียนนี้เข้าร่วมโครงการธนาคารโรงเรียนด้วย เวลา 10.00 น. คุณครูผู้ดูแลการสอบ ได้รวมพลนักเรียนที่เข้าร่วมการสอบที่ศูนย์สอบนี้ทั้งหมด 424 คน เพื่อชี้แจงกฏ กติกาการทำข้อสอบ และแนะนำการเขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบ และก็เริ่มสอบตั้งแต่เวลา 10.30 — 12.00 น. บริเวณ ชั้น 2 ชั้น 6 และ ชั้น 9 ในอาคารสิรินธร 1 พอถึงเวลาทำข้อสอบ ทุกห้องสอบเงียบกริบ ! เพราะน้อง ๆ ทุกคนตั้งตาตั้งตาทำข้อสอบกันอย่างขะมักเขม้น และส่งออกจากข้อสอบเมื่อหมดเวลาสอบกันเกือบทั้งนั้น ผู้เขียน ได้เข้าไปสอบถามความรู้สึก ในการสอบครั้งนี้จากน้อง ๆ โดย เด็กชายธีรทัศน์ ธนกฤษศิริพัฒน์ (เฟิร์ส) ชั้น ม. 2 โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม อ. คลองหลวง จ. ปทุมธานี บอกว่า อยากได้ประสบการณ์จากการสอบ อยากลองข้อสอบ และอยากรู้ผลสอบเฉย ๆ ข้อสอบยากกว่าที่เคยเรียนมา แต่เราก็ได้เรียนรู้จากข้อสอบใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอในชั้นเรียน เด็กหญิงปาริชาติ ถริปภัสสโร (ปอย) ม. 3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต เล่าว่า ตอน ป. 4 เคยสอบโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ของ สสวท. มาก่อน ที่สมัครสอบครั้งนี้อยากได้ความรู้จากการสอบครั้งนี้ด้วย ชอบเรียนคณิตศาสตร์อยู่ด้วย เตรียมตัวสอบโดย อ่านทบทวนตำราเก่า ๆ ข้อสอบยากมาก ๆ เลย ที่ทำได้จะเป็นทดสอบตัวแปร ที่ทำไม่ได้น่าจะเป็นรูปเรขาคณิต อยากให้มีการสอบแบบนี้อีก เพราะเราได้ลองสอบ นอกเหนือจากที่สอบในโรงเรียน เด็กชายชยพล พักไพบูลย์วงศ์ (เท่) ม. 3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต บอกว่า ตอน ม. 1 เคยสอบแข่งขันโครงการโอลิมปิกวิชาการ ม. ต้น กับมูลนิธิ สอวน. ชอบเรียนคณิตศาสตร์และนาฏศิลป์ เทคนิคการเรียนคือ อ่านและทำโจทย์เยอะ ๆ การเตรียมตัวก่อนสอบคือตะลุยทำโจทย์ เตรียมตัวตั้งแต่ ม. 3 เทอม 1 ตั้งแต่รู้ว่ามีการสอบครั้งนี้ ข้อสอบครั้งนี้วัดกระบวนการคิดเป็นส่วนใหญ่ มีคำถามซับซ้อนและต้องพลิกแพลงคำตอบมาก ๆ ซึ่งมีจุดดีคือฝึกให้เด็กได้คิด และผลการสอบจะทำให้เรารู้ว่าเราทำได้ถึงระดับใด จะได้พัฒนาตนเอง เด็กหญิงทัชชญา เกษจันทร์ (มีน) ม. 3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต เล่าว่า ที่เข้าร่วมสอบประเมินเพราะอยากทดสอบความรู้ของตนเองว่าเรามีความรู้ในระดับใด อ่านหนังสือเตรียมสอบบ้างเล็กน้อย ที่เคยเรียนมาตอน ม. 1- ม. 3 ในข้อสอบพบเนื้อหาที่เรียนมาก่อนแล้ว แต่ข้อสอบยากและซับซ้อนกว่าที่เคยพบ อนึ่ง นักเรียนที่เข้าร่วมการประเมิน จะได้ข้อมูลอย่างละเอียดของตน ว่ามีเนื้อหาด้านใดบ้างที่ควรปรับปรุง หรือด้านใดที่เป็นจุดเด่น หลังจากการประเมิน จะมีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เป็นรายบุคคล ภาพรวมของแต่ละโรงเรียน เขตการศึกษา จังหวัด ภาค และภาพรวมระดับประเทศ เพื่อให้โรงเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนในเชิงนโยบาย แก้ปัญหาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนได้อย่างตรงจุด นักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขันทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ จะได้รับเงินรางวัลจากโครงการธนาคารโรงเรียน ของธนาคารออมสินอีกด้วย โดยธนาคารออมสิน ได้สนับสนุนเงินรางวัลถึง 5 ล้านบาท สำหรับการสอบประเมินครั้งนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www3.ipst.ac.th/TME

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ