มอก. 26000: มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday November 11, 2010 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--คต. นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รักษาการรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (มอก. 26000) ฉบับภาษาไทย เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการไทยรับทราบถึงหลักการสำคัญ วิธีการดำเนินการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ภาคส่วนที่รับผิดชอบ ก่อนที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) จะประกาศใช้แนวปฏิบัติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000 Guidance on Social Responsibility: SR) ภายในต้นปีพ.ศ. 2554 ภายหลังจากที่ ISO มีแนวคิดที่จะกำหนด ISO 26000 ขึ้นโดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้บริโภค ภาครัฐ อุตสาหกรรม แรงงาน องค์กร เอกชน และนักวิชาการ เป็นต้น รวมทั้ง สมอ. ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของไทย เข้าร่วมดำเนินการกำหนดมาตรฐานดังกล่าว เพื่อมุ่งเน้นให้ ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักและเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ISO 26000 จะเป็นเพียงมาตรฐานข้อแนะนำถึงหลักการและวิธีการของความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรพึงปฏิบัติ โดยไม่มีข้อกำหนดในการนำ ISO 26000 ไปใช้ในการรับรอง และไม่ใช่มาตรฐานบังคับแต่ให้ใช้ด้วยความสมัครใจ ซึ่งหลักการสำคัญ 7 ประการของมาตรฐานฉบับนี้จะตั้งอยู่บนความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ความมีจริยธรรม เคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เคารพต่อหลักยุติธรรม เคารพต่อข้อกำหนดและแนวปฏิบัติของสากล และเคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยกิจกรรมของความรับผิดชอบต่อสังคมต้องเข้าข่าย 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรม ผู้บริโภค และการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งหน่วยงาน / องค์กรทุกประเภท ไม่เฉพาะหน่วยงานภาคธุรกิจเท่านั้น สามารถนำแนวทางของ มอก. 26000 ไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้บริหารหน่วยงาน / องค์กรต้องมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติแล้วนำไปกำหนดเป็นนโยบายโครงสร้างหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ จากนั้นทุกคนในองค์กรต้องทำความเข้าใจรายละเอียดของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งควรศึกษาถึงผลกระทบ ผลประโยชน์ และความหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากกิจกรรม SR บริษัทที่มีกิจกรรม SR สามารถนำกิจกรรมของตนมาเทียบเคียงกับมาตรฐาน ISO 26000 เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ผู้ที่สนใจและผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.tisi.go.th/ หรือติดต่อสอบถามไปที่กลุ่มรับรองหน่วยรับรอง 2 สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สายด่วน สมอ. โทรศัพท์ 0 2793 9300

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ