ทูตพาณิชย์วิเคราะห์ QE2 เตือนทุกประเทศรับมือ เผยผู้นำเข้าจะปรับรูปแบบการสั่งสินค้าอีกระลอก

ข่าวทั่วไป Thursday November 11, 2010 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก ทูตพาณิชย์วิเคราะห์ QE2 เตือนทุกประเทศรับมือ เผยผู้นำเข้าจะปรับรูปแบบการสั่งสินค้าอีกระลอก แนะผู้ส่งออกเลี่ยงผลกระทบค่าเงิน ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า เชื่อมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีผุดเพียบ นางสมจินต์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เปิดเผยถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯได้ประกาศนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ รอบที่สอง (QE2) ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า เหตุที่สหรัฐฯทำเช่นนี้ เพื่อเปิดสงครามกับจีน ในการกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ดังนั้นประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก(ยกเว้นจีน) จะต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นของการอ่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2554 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ “คนอเมริกันเกือบ15 ล้านคนยังคงตกงาน และถึงแม้สหรัฐฯจะเป็นประเทศบริโภคนิยม แต่ถ้าการว่างงานสูงและประชาชนวิตกว่าจะไม่มีรายได้ในอนาคตมาใช้จ่าย จะทำให้การบริโภคลดต่ำลง และหมายถึงสินค้านำเข้าจะลดลงด้วย รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อรูปแบบทางการค้าด้วย เช่น การสั่งซื้อสินค้าต่อครั้งมีปริมาณที่ลดลง และ เครดิตสินค้ายาวขึ้น จนหลายครั้ง ผู้ส่งออกไทยไม่ สามารทำธุรกิจด้วยได้ ดังนั้นผู้ส่งออกควรคำนึงถึงปัจจัยข้อนี้เมื่อเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ” แนวทางการส่งเสริมการค้าในปี 2554 ผู้ประกอบการไทยความสามารถในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตลาด ต้องยกระดับความสามารถในการผลิตและการตลาดเพื่อการส่งออกให้สูงขึ้น การส่งออกมาตลาดสหรัฐฯ สิ่งสำคัญคือการควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตามข้อตกลงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า ไม่นำมาใช้กีดกันการค้า เช่น มาตรฐานในเรื่องสุขอนามัย HACCP มาตรฐานการผลิตสินค้าฮาลาล(HALAL) หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้า GMOs และควรคำนึงถึงข้อกำหนดอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้ในการกีดกันการนำเข้าสินค้า เช่น การผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานเด็ก (Child Labor) การให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ในระหว่างเลี้ยงหรือก่อนการนำไปแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นอกจากติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ส่งออกควรพิจารณากระจายตลาดส่งออก อย่าไปกระจุกรับออร์เดอร์อยู่กับประเทศเดียว หรือ พึ่งพาตลาดส่งออกตลาดเดียว ถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดใหญ่ก็ตาม เพราะจะเกิดความเสี่ยงสูงหากเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจล้มเหลวในประเทศนั้น “การพัฒนาคุณภาพเพื่อยกระดับสินค้าเป็นสิ่งสำคัญในระยะยาว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งด้านราคาเพียงอย่างเดียว การสร้างความแข่งแกร่งในตลาดใหม่ที่มีความสำคัญ อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน โดยปรับบทบาทสร้างพันธมิตรในตลาดส่งออก (Export alliance) หรือการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ที่เอื้อต่อฐานการผลิตในไทยด้วย”นางสมจินต์ กล่าว สำหรับช่องทางการค้าในตลาดสหรัฐ เนื่องจากสินค้าทุกประเภทมีรายละเอียดหลากหลาย และสหรัฐฯเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคหลากหลายความต้องการและหลายเชื้อชาติ ดังนั้น การศึกษาตลาด และการหาข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของการเข้าตลาด โดยช่องทางการค้าของทุกสินค้ามีลักษณะคล้ายคลึงกันประการหนึ่ง (ยกเว้นสินค้าอาหาร) คือ ผู้ส่งออกควรจะต้องหาคู่ค้าเสียก่อน สำหรับสหรัฐฯการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าควรเป็นกิจกรรมที่จะทำก็ต่อ เมื่อผู้ส่งออกมีคู่ค้า หรือ โชว์รูมแล้ว เนื่องจากปัจจัยหลักที่สำคัญต่อการค้า คือ การส่งสินค้าได้ในเวลาที่รวดเร็ว ปัจจุบันหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่มีอำนาจในการซื้อ จะลดค่าใช้จ่ายโดยการไม่เก็บสต็อกสินค้าเอง จะให้ผู้ขาย(ซัพพลายเออร์) เป็นผู้เก็บสินค้า และให้ส่งให้ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งอยู่ในเวลาระหว่าง 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์การค้าของไทยกับสหรัฐฯ ในปีนี้ ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับไทยในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มค.-กย. 2553 เพิ่มขึ้น 24.9 % และคาดว่าการส่งออกทั้งปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร, ยางพารา, อัญมณี และ อาหาร สินค้าที่น่าจับตามองคือ อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัวถึง 46% และมีสัดส่วนตลาดถึง 5% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคมีการปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อเครื่องประดับที่มีราคาไม่แพงมากนัก แต่มีการออกแบบที่ดูดี ดังนั้นสินค้าที่คาดว่าจะเป็นที่นิยมในปี 2554 ได้แก่ Silver Jewelry และ Costume Jewelry อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยมายังสหรัฐฯ จะมีอุปสรรคเพิ่มขึ้นจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนตัวลงอีก โอกาสและช่องทางการค้าของผู้ส่งออกไทย สินค้าที่มีศักยภาพที่ ได้แก่ สินค้าประเภทอาหารสำหรับคนเอเซีย เช่น ข้าว กุ้งแช่แข็ง เส้นก๋วยเตี๋ยว กะทิ ซอสปรุงรส อาหารกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าอาหารฮิสแปนิก สินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าของประดับและตกแต่งบ้านที่มีดีไซน์ สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสตรี และเครื่องประดับที่มีดีไซน์) ร้านอาหารไทย สินค้าสำหรับตลาด Institution เช่น เรือสำราญ โรงพยาบาล โรงเรียน สนามกีฬา เรือนจำ หน่วยงานทหาร เป็นต้น สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.02-507-7932 — 4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ