กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 10 ว่าที่ประชุมร่วมหารือและกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหม่ หลังพบว่าแผนลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของทั่วโลกไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่สามารถหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ค.ศ. 2010 ได้ พร้อมปรับแผนใหม่ขยายเวลาไปอีก 10 ปี
จากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 10 (COP10) เพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ทั่วโลก ที่เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมพบว่า ทั่วโลกไม่บรรลุตามเป้าหมายการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ค.ศ. 2010 ได้ โดยอัตราการสูญเสียและสูญพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพยังคงอยู่และรวดเร็วกว่ายุคไดโนเสาร์เป็น 1,000 เท่า ทั้งนี้เป็นเพราะภาคีสมาชิกต่างดำเนินงานโดยลำพัง ขาดการสอดประสานงานในภาพรวม ดังนั้น ผู้แทนจาก 193 ประเทศ และองค์การสหประชาชาติ ได้ขยายเวลาของเป้าหมายออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้ประเทศทั่วโลกหายุทธศาสตร์ร่วมกันในการบรรลุการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ ภายในปี ค.ศ. 2010 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้
1. รับรองพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม (Nagoya Protocol on Access to Genetic Resources and the Fair and Equitable Sharing of Benefits Arising from their Utilization) เพื่อใช้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม โดยให้มีการเข้าถึงและถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
2. รับรองแผนกลยุทธ์ไอจิ-นาโงยา (Aichi-Nagoya Strategic Plan) ที่มุ่งหมายที่จะหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในปี 2020
3. รับรองพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและการชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Nagoya-Kuala Lumpur Supplementary Protocol on Liability and Redress to the Cartagena Protocol on Biosafety) ซึ่งเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางระหว่างประเทศในเรื่องของการรับผิดชอบและชดใช้ในส่วนของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามแดน
ผลการประชุมดังกล่าวจะเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลกในช่วง 10 ปีต่อไป ว่ามีความเร่งด่วนที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือในการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์ต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์และทรัพยากรพันธุกรรม
ในส่วนของประเทศไทย พิธีสารนาโงยาฯ พิธีสารเสริมฯ และแผนกลยุทธ์ไอจิ-นาโงยา จะใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนกฎ ระเบียบและข้อบังคับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม เพื่อความมั่นคงทางนิเวศและฐานทรัพยากรของชาติ ซึ่งเป็นทุนการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จะเตรียมการดำเนินงานเพื่อให้มีการลงนามในพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมฯ และ พิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและการชดใช้ฯ รวมถึงจัดทำแผนระยะสั้นเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2555 ตลอดจนนำสาระตามแผนกลยุทธ์ไอจิ-นาโงยา ผนวกไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และปรับปรุงนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนเพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในระดับชาติต่อไป
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ โทร. 0 2265 6640 หรือ
คุณสุวรรณา (นา) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
โทร 0 2158 1312-6
อีเมล : th_suwanna@hotmail.com